จีนผลักดันการตรวจโควิดครั้งใหญ่ตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองในจีน
บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่สวมชุดป้องกันเชื้อโรค ที่ต้องแหย่สำลีพันก้านพลาสติกไปที่โพรงจมูกผู้คนนับล้านคนในประเทศจีนทุก ๆ วัน และทิ้งขยะอุปกรณ์การแพทย์มากมาย ซึ่งกลายเป็นว่ายุทธศาสตร์ปลอดโควิดนี้สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจต่อจีนมากขึ้นด้วย
จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศสุดท้ายในโลก ที่มุ่งกำจัดการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าต้นทุนที่ตามมาจากมากมายมหาศาลแค่ไหน ทั้งการล็อคดาวน์ การกักตัวเมื่อพบผู้ติดเชื้อใหม่เพียงไม่กี่ราย และการตรวจหาเชื้อเกือบทุกวัน
ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เทียนจิน ล้วนเต็มไปด้วยจุดตรวจหาเชื้อแบบชั่วคราว ในขณะที่ทางการสั่งให้ประชากรหลายร้อยล้านคนเข้ารับการตรวจทุก ๆ สองหรือสามวัน ซึ่งทางการจีนยืนยันว่า มาตรการโควิดเป็นศูนย์ ช่วยให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนี้สามารถหลีกเลี่ยงหายนะทางด้านสาธารณสุขได้
แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดขยะอันตรายมากมาย และยังกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในการแก้ไขปัญหานี้
อี้เฟย หลี่ (Yifei Li) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ปริมาณขยะทางการแพทย์จำนวนมหาศาล อยู่ในระดับที่แทบจะไม่เคยพบเห็นเลยในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี รัฐบาลปักกิ่งได้วางบทบาทของประเทศในฐานะผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำจัดมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ พร้อมกำหนดเป้าหมายในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเป็นกลางคาร์บอนภายในปี 2060 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากแนวโน้มของการลงทุนในเรื่องถ่านหินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโควิดแบบปูพรม กำลังก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ในเรื่องขยะทางการแพทย์ ซึ่งหากไม่มีการกำจัดอย่างเหมาะสม ขยะติดเชื้อเหล่านี้อาจทำให้ดินและน้ำเกิดการปนเปื้อน ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนสุขภาพของมนุษย์
การวิเคราะห์ของเอเอฟพีเกี่ยวกับประกาศของรัฐบาลและรายงานของสื่อจีนระบุว่า เมืองและมณฑลต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 600 ล้านคน ได้ประกาศรูปแบบการตรวจหาเชื้อแบบเป็นประจำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภูมิภาคต่าง ๆ มีการกำหนดข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และบางพื้นที่ได้ระงับนโยบายนี้ไปเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะในระดับประเทศจะยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่เจ้าหน้าที่เซี่ยงไฮ้กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เซี่ยงไฮ้ผลิตขยะทางการแพทย์ถึง 68,500 ตัน ในระหว่างการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ โดยปริมาณขยะต่อวันนั้นสูงกว่าปกติถึง 6 เท่าเลยทีเดียว
ภายใต้กฎข้อบังคับของจีน หน่วยงานท้องถิ่นมีจะหน้าที่ในการคัดแยก ฆ่าเชื้อ ขนส่ง และจัดเก็บของเสียที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ก่อนที่จะกำจัดทิ้งในที่สุด ซึ่งมักจะใช้วิธีการเผา แต่นักวิชาการมองว่าวิธีดังกล่าวอาจสร้างภาระหนักสำหรับเมืองชนบท
หยานจง หวง (Yanzhong Huang) นักวิชาการอาวุโสด้านสาธารณสุขโลกจาก Council on Foreign Relations สถาบันคลังสมองในนิวยอร์ก กล่าวว่า เขาไม่แน่ใจว่าเมืองในชนบทจะมีศักยภาพในการจัดการกับปริมาณขยะทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้หรือไม่
ทางด้านเบนจามิน สตอยเออร์ (Benjamin Steuer) แห่งมหาวิทยาลัย Hong Kong University of Science and Technology กล่าวว่า ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งมีการดำเนินการอย่างไม่เหมาะสมหรือเพียงแค่ทิ้งขยะเหล่านั้นลงในหลุมฝังกลบชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของจีนได้ระบุไว้ในคำแถลงที่ส่งถึงเอเอฟพีว่า จีนได้มีมาตรการเฉพาะสำหรับการจัดการกับขยะทางการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการโควิด-19 ในระดับประเทศ
ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่ง ที่มีประชากร 10 ล้านคน จัดตั้งศูนย์ตรวจโควิดใกล้บ้านที่สามารถเดินไปตรวจหาเชื้อได้ในเวลา 15 นาที และคาดหวังว่ารัฐบาลท้องถิ่นอื่น ๆ จะดำเนินการตาม
ทว่ามาตรการนี้มาพร้อมกับต้นทุนที่สูง โดยข้อมูลของนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินโนมูระ ระบุว่า รูปแบบการตั้งจุดตรวจโควิดใกล้บ้าน จะใช้งบประมาณราว 0.9% ถึง 2.3% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของจีนทีเดียว
อี้เฟย หลี่ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวเสริมว่า ผลพวงต่อเศรษฐกิจจากโครงการนี้มีความท้าทายมาก เพราะรัฐบาลไม่อยากลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถาวรเพื่อจัดการกับภูเขาขยะการแพทย์พุ่งสูงในระยะสั้นแน่นอน
ด้านจิน ดง-ยัน อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัย Hong Kong University มองว่า มาตรการตรวจโควิดแบบปูพรม “ไร้ประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูงอย่างมาก” และผลักให้รัฐบาลขาดงบลงทุนด้านสาธารณสุขที่จำเป็นมากกว่า
- ที่มา: เอเอฟพี