คณะกรรมาธิการตรวจสอบเหตุจลาจลรัฐสภา 6 ม.ค. 2021 ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รับฟังคำให้การจากอดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายคน เกี่ยวกับความพยายามของอดีตปธน.ทรัมป์ ที่ต้องการคว่ำผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 รวมทั้งการปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนตนบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ จนนำไปสู่เหตุจลาจลที่มีผู้เสียชีวิตหลายราย
ถึงกระนั้น คำถามสำคัญที่คนอเมริกันต้องการคำตอบ คือ การกระทำของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ผู้นี้เข้าข่ายก่ออาชญากรรมหรือไม่?
แคสซิดี ฮัทชินสัน หนึ่งในคณะทำงานของทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้การต่อคณะกรรมาธิการตรวจสอบเหตุจลาจลรัฐสภา 6 ม.ค. 2021 ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร เกี่ยวกับการกระทำของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ทั้งก่อนและระหว่างที่กำลังเกิดการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันนั้น
โดยเธอระบุว่า ทรัมป์ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ประท้วงติดอาวุธในการเดินขบวนในช่วงเช้าวันที่ 6 ม.ค. ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นเวทีและกล่าวกระตุ้นให้บรรดาผู้สนับสนุนตน “สู้สุดชีวิต” หรือ “fight like hell” ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งในขณะนั้นทรัมป์ต้องการที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงด้วย แต่บรรดาที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวตระหนักว่าอาจเกิดผลทางกฎหมายตามมาได้
ฮัทชินสันกล่าวว่า ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของทำเนียบขาว แพท ซิโพลโลเน บอกกับเธอว่า ทรัมป์จะถูกฟ้องทางอาญาหลายคดีหากเขาไปที่รัฐสภาในขณะที่กำลังมีกระบวนการรับรองชัยชนะของไบเดน รวมถึงอาจถูกฟ้องในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือฉ้อโกงผลการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาในวันพุธ คณะกรรมาธิการได้เรียกตัวซิโพลโลเนมาให้การเพิ่มเติมในกรณีนี้ด้วย
หลักฐานที่ได้จากการให้การของพยานในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง?
พยานหลายคนให้การว่า ทรัมป์ได้รับการยืนยันจากที่ปรึกษาในคณะเลือกตั้งของเขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลว่า เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อไบเดนแล้ว และคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่ามีการโกงเลือกตั้งก็ห่างไกลจากความเป็นจริง ถึงกระนั้น ทรัมป์ยังยืนยันหัวชนฝาว่าเขาถูกโกงชัยชนะ พร้อมไปกับการกดดันไปยังรัฐต่าง ๆ ให้มีการนับคะแนนใหม่ รวมทั้งขอให้กระทรวงยุติธรรมใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนเอง ซึ่งในที่สุดแล้วได้นำไปสู่ความวุ่นวายที่รัฐสภา
ฮัทชินสันให้การว่า ทรัมป์ขอให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวถอดเครื่องตรวจโลหะออกไปจากบริเวณที่ตนกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนเมื่อวันที่ 6 ม.ค. โดยบอกว่าตนไม่สนใจหากบรรดาผู้ประท้วงเหล่านั้นจะพกพาอาวุธปืนมาด้วย เพราะพวกเขาไม่ได้มาเพื่อทำร้ายตน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ตอบโต้ในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันอังคาร ปฏิเสธคำให้การของฮัทชินสันซึ่งเธออ้างว่ามาจากข้อมูลการพูดคุยติดต่อระหว่างเธอกับทรัมป์และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในวันนั้น
ทรัมป์มีส่วนในการก่ออาชญากรรมใด ๆ หรือไม่?
กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่า การปลุกปั่น การจัดตั้ง การปลุกเร้าหรือสนับสนุนให้เกิดเหตุจลาจลเหมือนที่เกิดขึ้นที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. ถือว่าเข้าข่ายก่ออาชญากรรม ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์กล่าวกับบรรดาผู้สนับสนุนเขาให้ “สู้สุดชีวิต” อาจถูกตีความว่าเป็นการเรียกร้องให้เกิดการกระทำดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เคยถูกตั้งข้อหา “ปลุกปั่นให้เกิดจลาจล” มาแล้วในการยื่นญัตติถอดถอนเขาในวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะถูกตัดสินให้พ้นจากข้อกล่าวหานี้
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องร้องทางอาญาต่ออดีตปธน.ทรัมป์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเชื่อว่าคำให้การครั้งล่าสุดนี้อาจถูกนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำให้การของฮัทชินสันที่ระบุถึงคำพูดของทรัมป์ที่ให้เอาเครื่องตรวจโลหะออกไปนั้น ชี้ให้เห็นว่าอดีตผู้นำสหรัฐฯ ทราบดีว่ามีผู้สนับสนุนเขาบางคนที่นำอาวุธติดตัวมาด้วยและอาจก่อเหตุรุนแรงได้
แต่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า กรณีนี้ขึ้นอยู่กับว่า ทรัมป์ตั้งใจหรือมีความคิดสนับสนุนการกระทำที่รู้แน่ชัดว่าขัดกับกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการจะพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงเป็นเรื่องยาก เพราะมีเพียงคำให้การของพยานในวันเกิดเหตุเท่านั้น
ขณะที่ จิมมี กูรูเล อาจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame และอดีตอัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องอดีตผู้นำสหรัฐฯ ได้ คือ การที่ทรัมป์สมคบคิดให้มีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง ด้วยการใช้ความพยายามหลายอย่างในการพลิกผลการเลือกตั้ง ตลอดจนการขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของไบเดน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สั่งขยายการสืบสวนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. โดยมุ่งเป้าไปที่พรรคพวกของทรัมป์ในกรุงวอชิงตันและรัฐอื่น ๆ ที่เชื่อว่ามีส่วนร่วมในการขัดขวางการรับรองชัยชนะของไบเดนในวันนั้นด้วย แต่ทางอัยการยังไม่ได้ระบุว่ามีการยื่นฟ้องอดีตผู้นำสหรัฐฯ และพวกพ้องหรือไม่
มีโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะตั้งข้อหากับทรัมป์หรือไม่?
นี่เป็นสิ่งที่แต่ละคนต่างคาดเดากันไป แต่ในทางกฎหมายแล้ว ลำพังคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เพียงฝ่ายเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่มีโอกาสซักพยานนั้น ยากที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีทางอาญาได้
ในขณะที่คำให้การอย่างหนึ่งของฮัทชินสันที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ที่รับฟัง คือการที่ทรัมป์ซึ่งกำลังเดือดดาลระหว่างนั่งอยู่ในรถยนต์ของประธานาธิบดี พยายามยึดพวงมาลัยรถยนต์เพื่อพาตัวเองไปที่อาคารรัฐสภาแทนที่จะกลับไปที่ทำเนียบขาวนั้น เป็นเรื่องที่ฮัทชินสันได้ยินมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาใช้ไม่ได้หรือไม่มีน้ำหนักพอในการพิจารณาคดี
ถึงกระนั้น รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ เมอร์ริค การ์แลนด์ ได้รับปากไว้ว่าจะนำตัวผู้กระทำผิด “ในทุกระดับ” มารับโทษ และได้สั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจล 6 ม.ค. ไปแล้วกว่า 800 คน ในขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนพยายามกดดันให้รัฐมนตรีการ์แลนด์ตั้งข้อหากับอดีตปธน.ทรัมป์ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีการ์แลนด์อาจมีปัจจัยอื่นให้ต้องขบคิดอย่างหนักด้วย ประการแรกคือ ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีอดีตปธน.สหรัฐฯ คนไหนที่ถูกฟ้องร้องโดยกระทรวงยุติธรรมมาก่อน และการตั้งข้อหาทางอาญากับทรัมป์ก็อาจนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงในประเทศนี้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
อีกประการหนึ่งคือ เวลานี้ทรัมป์กำลังพยายามสร้างฐานกำลังเพื่อกลับสู่สนามเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมก็อาจต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่สามารถนำไปสู่ข้อกล่าวหาและเสียงวิจารณ์ว่า เป็นการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดนก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึงก็เป็นได้
- ที่มา: เอพี