ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปิดฉากเวทีประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน


สิ้นสุดลงแล้วสำหรับเวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ในโอกาสเฉลิมฉลอง 45 ปีของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน และเสริมสร้างบทบาทสำคัญของอาเซียนในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคในหลายด้าน

ไทยเทียบเชิญไบเดน ร่วมเอเปค พ.ย.นี้ ส่งไม้ต่อสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพปีหน้า

นายกรัฐมนตรีของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่กรุงวอชิงตัน ถึงผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยได้มีการพบภาคเอกชนสหรัฐฯ และเสนอแผนให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เพื่อให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถึงการพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีด้วยว่า ได้มีการหารือสั้นๆกับผู้นำสหรัฐฯ โดยไทยได้เทียบเชิญปธน.ไบเดน เข้าร่วมประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุม ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเตรียมส่งไม้ต่อสหรัฐฯ ที่จะเป็นเจ้าภาพปีหน้า

ส่วนประเด็นเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา นายกฯ ได้กล่าวว่า ไทยและชาติอาเซียนยังคงย้ำจุดยืนในการลดความขัดแย้งอาเซียนด้วยสันติวิธี ควบคู่ไปกับการเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ขณะที่ประเด็นตึงเครียดในยูเครน พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า มหาอำนาจควรเดินหน้าการเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ในฐานะรมว.กลาโหม ยังกล่าวถึง การพูดคุยกับรมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ในการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ แต่ยืนยันว่าไม่ได้รุกรานใคร แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดในการหารือครั้งนี้

ประเด็นสำคัญในการหารือความร่วมมือสหรัฐฯ-อาเซียน

สำหรับความร่วมมือสหรัฐฯ-อาเซียนในด้านต่าง ๆ ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน การจัดตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางในด้านความร่วมมือนี้ และสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของสหรัฐฯต่ออาเซียนในมิติด้านเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย

นายกฯ พลเอกประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงการพบปะบรรดานักธุรกิจสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านการเศรษฐกิจดิจิทัล และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างครอบคลุมครบถ้วน ร่วมสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

สัมภาษณ์รัฐมนตรีพลังงาน ว่าด้วยพลังงานทางเลือกของไทย

ในประเด็นด้านวิกฤตพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยว่า กลุ่มประเทศในอาเซียนให้ความกังวลถึงวิกฤตพลังงานที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าจะมีผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอาเซียนได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับสหรัฐฯ ถึงแผนการช่วยเหลือในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ส่วนในระยะยาวนั้นมองว่าวิกฤตดังกล่าวอาจเป็นโอกาสในการเร่งผลักดันโครงการพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกในระยะยาว

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ – อาเซียนครั้งนี้ คือเรื่องการสนับสนุนพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนและราคาเชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

รัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยังกล่าวถึงความพยายามของไทยในการหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อลดการพึ่งพานำมัน โดยมีแผน 5 ขั้น คือ การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050, การส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า, การรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงานลง 20%, การเพิ่มการลงทุนในอุปกรณ์ประหยัดพลังงานต่าง ๆ และ การพัฒนาแหล่งพลังงานให้ครอบคลุมทั่วถึง

ด้านนายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน และทะเลจีนใต้ที่เป็นประเด็นสำคัญขณะนี้ ซึ่งไทยได้แสดงจุดยืนต่อทางสหรัฐฯ ในการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และอยากเห็นการเจรจานำไปสู่สันติภาพและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่มีการจัดประชุมสุดยอดกันที่กรุงวอชิงตัน และสะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมอาเซียน ว่าภูมิภาคนี้ยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคที่จะยกระดับมากขึ้นในอนาคต

XS
SM
MD
LG