ธนาคารกลางศรีลังกากล่าวในวันอังคารว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นไปไม่ได้ที่จะชำระหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บเงินสดสำรองระหว่างประเทศไว้เพื่อใช้ซื้อสินค้าสำคัญ เช่น เชื้อเพลิง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปริมาณเงินสดสำรองของศรีลังกาลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 ใน 3 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ประกอบกับการก่อหนี้ของรัฐบาล
ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีศรีลังการับผิดชอบด้วยการลาออก
พี นันดาลาล วีระซิงห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา กล่าวว่า เวลานี้ศรีลังกาต้องให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าจำเป็นก่อน และยังไม่ต้องกังวลถึงการชดใช้หนี้ต่างประเทศ และว่า "ขณะนี้มาถึงจุดที่การชำระหนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป"
ปัจจุบัน ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศที่ถึงกำหนดชำระภายในปีนี้ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงหนี้พันธบัตรที่ต้องจ่ายคืนในเดือนกรกฎาคมนี้มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ผู้ว่าฯ วีระซิงค์ กล่าวว่า แผนระงับการชำระหนี้จะถูกใช้จนกระทั่งศรีลังกาสามารถทำข้อตกลงกับบรรดาผู้ให้กู้ได้ผ่านการสนับสนุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยทางการศรีลังกาได้เริ่มหารืออย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟเรื่องการกู้ยืมเงินฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ทางด้าน ทิโมธี อาช นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน BlueBay Asset Management ระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของศรีลังกาไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหมาย แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือทำไมรัฐบาลศรีลังกาจึงปล่อยเรื่องนี้ให้ยืดเยื้อมานานก่อนที่จะยอมรับความจริง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศรีลังกาไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ระหว่างประเทศมาก่อน
- ที่มา: รอยเตอร์