ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธุรกิจต่างชาติประท้วง หลังเมียนมาออกกฎใหม่ บังคับแลกเงินตราต่างประเทศ 


In this photograph taken on December 16, 2016 a money changer handles a transaction of US dollar and Myanmar Kyats as the local currency weakens. - The Myanmar Central Bank reference rate stands 1,365 Kyats to the US dollar as of December 16, 2016. (Photo
In this photograph taken on December 16, 2016 a money changer handles a transaction of US dollar and Myanmar Kyats as the local currency weakens. - The Myanmar Central Bank reference rate stands 1,365 Kyats to the US dollar as of December 16, 2016. (Photo

กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติในเมียนมาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎใหม่ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจและบุคคลทั่วไปต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมดที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารให้เป็นสกุลเงินท้องถิ่น ตามการรายงานของสำนักข่าว AP หรือ Associated Press

แถลงการณ์ที่ออกมาโดยหอการค้าอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอื่น ๆ ในเมียนมากล่าวว่า กฎที่บังคับให้แลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ ให้เป็นเงินจ๊าด (kyats) ของเมียนมานั้น จะทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง บั่นทอนการประกอบธุรกิจและการลงทุนของต่างชาติ และทำให้เกิดความตึงเครียดในการค้า

แถลงการณ์ดังกล่าวยังบอกว่า “กฎดังกล่าวที่ห้ามไม่ให้ใช้สกุลเงินต่างประเทศในเมียนมานั้นเป็นการตัดเมียนมาออกจากระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลก” และต่อด้วยว่า “การบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ ตลอดจนการไม่มีข้อยกเว้นที่ชัดเจนให้กับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เกิดความท้าทายอย่างใหญ่หลวง และในบางกรณีเป็นความท้าทายที่ไม่สามารถจัดการได้ ต่อธุรกิจต่าง ๆ ที่ประกอบการอยู่ในเมียนมา”

นอกจากนี้สถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมายังได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลทหาร โดยระบุว่าธุรกิจของญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับ “ความท้าทายอย่างยิ่งยวด” ในการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ และยังจะส่งผลเสียต่อการปฏิบัติงานของสถานทูตและหน่วยงานอื่น ๆ อีกด้วย

ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดของกฎใหม่ที่ว่านี้ แต่ธนาคารกลางของเมียนมาระบุในประกาศก่อนหน้านี้ว่ากฎที่บังคับให้ต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างชาตินี้ จะนำมาใช้กับรายได้ที่เกิดจากการส่งออกและรายได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น การให้บริการ การลงทุน การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน และธุรกรรมอื่น ๆ

A staff hands a stack of Myanmar Kyat to another at a bank in Yangon October 19, 2015. To match Insight MYANMAR-DOLLARS/ REUTERS/Minzayar - GF10000251135
A staff hands a stack of Myanmar Kyat to another at a bank in Yangon October 19, 2015. To match Insight MYANMAR-DOLLARS/ REUTERS/Minzayar - GF10000251135

สำนักข่าว AP รายงานว่า กฎใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาการขาดแคลนของ hard currency หรือกลุ่มสกุลเงินที่มีความเสถียรสูงและมีการซื้อขายทั่วโลก เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร เยน และปอนด์ หลังจากที่มีการก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของนาง ออง ซาน ซูจี

มีผู้วิจารณ์ว่ากฎใหม่ดังกล่าวซึ่งจำกัดการถอนเงินออกจากธนาคาร จะทำให้การบังคับใช้กฎนี้มีความยุ่งยากวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

สหรัฐฯ และประเทศโลกตะวันตกได้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาและต่อผู้นำกองทัพพร้อมทั้งครอบครัว นอกจากนี้ยังได้สั่งระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศของบุคคลเหล่านี้อีกด้วย

ที่ผ่านมา เมียนมาประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางการแข็งขืนของชาวเมียนมาต่อการยึดอำนาจและการบริหารงานในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว และทำให้เมียนมาขาดรายได้จำนวนมากจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของนักท่องเที่ยว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตาน ตาน สเว รองผู้ว่าการธนาคารแห่งเมียนมา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งหลังการยึดอำนาจของกองทัพ ถูกลอบยิงที่บ้านพักของเธอ หลังจากที่มีการประกาศกฎใหม่นี้ออกมา แต่ยังมีความสับสนว่าเธอรอดชีวิตจากการถูกยิงหรือไม่

เมียนมาได้เปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยทหารสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นตามลำดับ เมื่อเมียนมาเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ

อย่างไรก็ตามหลังรัฐประหาร ธุรกิจต่างชาติขนาดใหญ่หลายแห่งเลือกที่จะถอนตัวออกไป โดยให้เหตุผลว่าความเสี่ยงจากการทำธุรกิจมีมากขึ้น ขณะที่บรรยากาศในการธุรกิจนั้นย่ำแย่ลง

XS
SM
MD
LG