ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตาลิบันประกาศแผนปราบปรามยาเสพติด - ห้ามปลูกฝิ่นทั่วประเทศ


FILE - In this April 11, 2016 file photo, farmers harvest raw opium at a poppy field in the Zhari district of Kandahar province, Afghanistan.
FILE - In this April 11, 2016 file photo, farmers harvest raw opium at a poppy field in the Zhari district of Kandahar province, Afghanistan.

รัฐบาลตาลิบันในอัฟกานิสถานประกาศในวันอาทิตย์ว่าจะห้ามการปลูกฝิ่นทั่วประเทศ และเตือนว่าจะเผาไร่ฝิ่นและจับกุมคุมขังผู้ปลูกฝิ่นที่ละเมิดคำสั่งนี้ ตามรายงานของเอพี

โฆษกตาลิบันประกาศคำสั่งใหม่นี้ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงคาบุล โดยจะห้ามการผลิต การขนส่ง การซื้อขาย รวมทั้งการนำเข้าและส่งออกเฮโรอีน กัญชา และแอลกอฮอล์ด้วย

คำสั่งของรัฐบาลตาลิบันประกาศออกมาในขณะที่กำลังเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวและปลูกฝิ่นชุดใหม่ในอัฟกานิสถาน โดยในจังหวัดกันดาฮาร์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มตาลิบันนั้นก็กำลังมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไร่ฝิ่นเพื่อนำไปผลิตเป็นเฮโรอีนต่อไป ขณะที่ภาคตะวันออกของประเทศกำลังมีการปลูกฝิ่นชุดใหม่

ปัจจุบัน อัฟกานิสถานคือผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตมากกว่าประเทศอื่นในโลกรวมกันทั้งหมด โดยเมื่อปีที่แล้วก่อนที่ตาลิบันจะยึดครองประเทศได้นั้น อัฟกานิสถานผลิตฝิ่นมากกว่า 6,000 ตันซึ่งมากที่สุดเป็นสถิติใหม่หกปีติดต่อกัน และสหประชาชาติประเมินว่าสามารถนำไปผลิตเฮโรอีนบริสุทธิ์ได้ราว 320 ตัน

ทั้งนี้ เมื่อทศวรรษ 1990 ช่วงที่ตาลิบันปกครองอัฟกานิสถานนั้น ได้มีการห้ามปลูกฝิ่นมาแล้วโดยระบุว่าขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม โดยตลอดช่วงนั้นปริมาณการปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานลดลงจนเกือบหมด

แต่หลังจากที่ตาลิบันถูกโค่นอำนาจเมื่อปีค.ศ. 2001 ชาวอัฟกานิสถานได้กลับมาปลูกฝิ่นอีกครั้ง และมีรายงานว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อนที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง สามารถเก็บภาษีจากการปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นได้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี

รายงานของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วชี้ว่า รายได้จากอุตสาหกรรมฝิ่นในอัฟกานิสถานมีมูลค่าราว 1,800 - 2,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมากกว่า 7% ของมูลค่าจีดีพีของประเทศ

นักวิเคราะห์คาดว่า คำสั่งห้ามปลูกฝิ่นของรัฐบาลตาลิบันนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรรายย่อยและคนงานรับจ้างที่ยากจนซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากไร่ฝิ่นในการดำรงชีพ จนกว่ากลุ่มตาลิบันจะสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ทดแทนการปลูกฝิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

XS
SM
MD
LG