ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนสร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” ข้ามชาติ-แพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศ


foreign video bloggers appear on CGTN
foreign video bloggers appear on CGTN

สำนักข่าวเอพีของสหรัฐฯออกรายงานฉบับยาววันที่ 30 มีนาคม ที่ระบุถึง สื่อ CGTN ของทางการจีน ที่สร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” กว้างไกล บนสื่ออเมริกัน เช่น อินสตาเเกรม เฟซบุ๊คและยูทูบว์ รวมถึงแพลตฟอร์มเอกชนของจีนอย่าง TikTok

เอพีรายงานว่าเครือข่ายเหล่านี้ ซึ่งมีทั้ง “อินฟลูเอ็นเซอร์” ในจีนและในโลกตะวันตก มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศจีน และบางครั้งมีการเผยเเพร่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นลบต่อตะวันตก

ในหลายกรณี “อินฟลูเอ็นเซอร์” ให้ข้อมูลในบัญชีโซเชี่ยลมีเดียว่าเป็น “บล็อกเกอร์” หรือ “นักเดินทาง” ตลอดจน “ผู้ชื่นชอบอาหาร” แต่อันที่จริงพวกเขามีความเชื่อมโยงกับสื่อ CGTN ของทางการจีน

เอพีรายงานว่า มีสตรีชาวจีนที่ชื่อ วิค่า หลี่ เจ้าของบัญชีโซเชี่ยลมีเดีย TikTok อินสตาเเกรม เฟซบุ๊คและยูทูบว์ ซึ่งมีคนติดตามรวมกัน 1 ล้าน 4 แสนคน

วิค่า หลี่ ออกสื่อ CGTN หลายครั้งและถูกระบุบนเว็บไซต์ของบริษัทว่าเป็น “นักข่าวดิจิทัล” และเเม้เธอบอกแฟนๆบนบัญชีโซเชี่ยลมีเดียส่วนตัวว่า สร้างช่องโซเชี่ยลเหล่านี้ขึ้นเอง แต่เอพีพบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 9 รายช่วยบริหารจัดการบัญชีผู้ใช้ดังกล่าว

สำนักข่าวเอพีรายงานด้วยว่าทางการจีนสร้างเครือข่าย “อินฟลูเอ็นเซอร์” อย่างเงียบๆ บุคคลในเครือข่ายนี้จะเสนอมุมมองของรัฐบาลจีน ในลักษณะที่คล้องจองอย่างมากกับค่านิยมจีน เเละความพยายามที่จีนต้องการเบี่ยงประเด็นที่ถูกวิจารณ์จากนานาชาติ เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนจุดยืนของจีนในประเด็นโลกอย่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

บริษัท Miburo ที่จับตาปฏิบัติการเเพร่ข่าวสารบิดเบือนในต่างประเทศ ระบุว่า มี “อินฟลูเอ็นเซอร์” อย่างน้อย 200 รายที่โยงใยกับรัฐบาลจีนหรือสื่อของรัฐบาลปักกิ่ง โดยกระจายข้อมูลเป็น 38 ภาษา

กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Miburo คลินต์ วัตส์ ซึ่งเคยทำงานให้กับหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯหรือเอฟบีไอกล่าวว่า “ถ้าคุณโหมให้ข้อมูลต่อผู้ชมเป็นเวลายาวนานพอด้วยเรื่องราวที่เหมือนกันตลอด คนจะมีเเนวโน้มเชื่อสารที่ได้รับเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ”

Li Jingjing, CGTN journalist
Li Jingjing, CGTN journalist

นักข่าวจีนของ CGTN อีกรายหนึ่งที่ชื่อ หลี่ จิงจิง โพสต์เนื้อหาวิดีโอบนแอคเคาท์ ยูทูบว์ของเธอ โดยคลิปมีชื่อว่า “วิกฤตยูเครน: โลกตะวันตกไม่สนใจสงครามเเละหายนะที่พวกเขานำพาไปสู่ตะวันออกกลาง”

บางส่วนของเนื้อหาที่เธอโพสต์ยังช่วยโหมกระพือ การโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียที่ว่าเกิดการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในยูเครน และสหรัฐฯเเละนาโต้ยั่วยุให้รัสเซียบุกยูเครน

การใส่เนื้อหาการเมืองมักทำเเทรกเนื้อหาท่องเที่ยวประเทศจีน และสำนักข่าวเอพีพบบัญชีโซเชี่ยลมีเดียลักษณะนี้ของ “อินฟลูเอ็นเซอร์” หลายสิบคนที่มีคนติดตามรวมกันกว่า 10 ล้านราย โดยเกือบทุกแอคเคาท์บนเฟซบุ๊คจะพุ่งเป้าโฆษณาไปที่คนดูนอกประเทศจีนในมาติดตามเพจเหล่านี้

เจสซิกา เเบรนด์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีข่าวสารแห่งสถาบันวิจัยนโยบาย Brookings Institution กล่าวว่า เทคนิคเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าของแอคเคาท์ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของจีนมากลบประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลปักกิ่ง

สำหรับในต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม มีการเปิดเผยว่าสถานกงสุลจีนที่นครนิวยอร์กจ่ายเงินให้บริษัทสื่อ Vippi Media ในรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็นเงิน 300,000 ดอลลาร์ ให้หา “อินฟลูเอ็นเซอร์” ในการโพสต์เนื้อหาบน อินสตาเเกรมและ TikTok ช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง รวมถึงเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของรัฐบาลปักกิ่งในการจัดการปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ

วิปป์ เเจสวาล ซีอีโอของ Vippi Media ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเเก่เอพีเกี่ยวกับโพสต์เหล่านั้น

และที่รัฐเวอร์จิเนีย เอพีรายงานว่า บริษัท New World Radio ได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์ ให้ออกอากาศเนื้อหาของสื่อจีน CGTN เป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยอ้างอิงเอกสารจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเเพทริเชีย เลน เจ้าของร่วมของ New World Radio กล่าวว่าได้ยุติความสัมพันธ์กับสื่อจีนรายนี้ไปเเล้วเมื่อเดือนธันวาคม

สำนักข่าวเอพีพยายามติดต่อไปยังบุคคลของฝ่ายจีนในบทความชิ้นนี้ เช่น หลี่ จิงจิง รวมถึง CGTN แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทั้งนี้หน่วยงาน CGTN มีองค์กรที่จดทะเบียนนิติบุคคลในอเมริกาที่ชื่อ CGTN America ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับองค์กรข่าวต่างประเทศหลายเเห่งเช่น เอพี ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์

ขณะเดียวกัน โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน หลิว เพ็งหยูกล่าวว่า “สื่อจีนและนักข่าวจีนทำงานตามปกติของพวกเขา อย่างเป็นอิสระ และไม่ควรถูกสันนิษฐานว่าพวกเขาโดนชี้นำหรือเเทรกเเซงโดยรัฐบาลจีน”

ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG