ในเวลานี้ ผู้คนเกือบทั่วโลกต่างรู้จักชื่อของ ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี กันเป็นอย่างดีในฐานะบุคคลสำคัญและผู้นำผู้กล้าหาญที่ประกาศความตั้งใจไม่ลี้ภัยออกจากยูเครนเพื่อที่จะได้ต่อสู้กับรัสเซียที่เดินหน้าการโจมตีจุดต่างๆ มาเป็นเวลากว่าสัปดาห์แล้ว ขณะที่กองกำลังทหารรัสเซียนับหมื่นนายกำลังรุกคืบเข้ามาใกล้กรุงเคียฟทุกขณะ
เมื่อครั้งที่สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอจะอำนวยความสะดวกกระบวนการอพยพทั้งตัวผู้นำยูเครนและครอบครัวออกนอกประเทศ ปธน.เซเลนสกี บอกกับสหรัฐฯ ว่า “การสู้รบนั้นอยู่ที่นี่” และตน “ต้องการอาวุธยุทธภัณฑ์” ไม่ใช่ความช่วยเหลือพาหนีใดๆ โดยคำตอบที่แสดงจุดยืนอันกล้าหาญนี้ได้กลายมาเป็นเหมือนตราสัญลักษณ์ของชาวยูเครนในการยืนหยัดต่อต้านการรุกรานของกองทัพรัสเซียทันที
นอกจากนั้น ปธน.เซเลนสกี ยังถ่ายคลิปวิดีโอขณะเดินอยู่กลางกรุงเคียฟ พร้อมเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายให้การสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้รับมือรัสเซียด้วย ก่อนที่คลิปดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ต่อออกไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ก่อนเกิดสงครามในยูเครน ชื่อของปธน.เซเลนสกี ซึ่งอดีตเคยเป็นนักแสดงและดาราตลกมาก่อน ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกประเทศสักเท่าใด
ผู้นำคนปัจจุบันซึ่งมีอายุ 44 ปี ก้าวขึ้นรับตำแหน่งบริหารประเทศเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1999 หลังได้คะแนนเสียงสนับสนุนถึง 73.2% ทำให้เอาชนะอดีตประธานาธิบดี เพโตร โพโรเชนโก ไปได้อย่างขาดลอย
มีผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การเดินแผนเลือกตั้งจนได้ชัยชนะของผู้นำยูเครนคนปัจจุบันนั้น เป็นเหมือนศิลปะการเลียนแบบชีวิตจริง เพราะก่อนที่เขาจะลงสนามเลือกตั้งนั้น ปธน.เซเลนสกี เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงซีรีส์ทางโทรทัศน์ชื่อ “Servant of the People” โดยเขารับบทครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของยูเครน โดยซีรีส์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยประเด็นชื่อเสียงของตัวละครที่ ปธน.เซเลนสกี รับบทพุ่งขึ้นอย่างมาก หลังมีคลิปวิดีโอของครูคนนี้ขณะกำลังออกมาวิจารณ์กรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วยูเครน กลายมาเป็นคลิปไวรัล
และในปี ค.ศ. 2018 มีการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งชื่อตามซีรีส์โด่งดังข้างต้น และสมาชิกพรรคยังได้เสนอชื่อ เซเลนสกี ให้เป็นตัวแทนลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยการชูประเด็นต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งคล้ายๆ กับที่ตัวละครที่เขาแสดงในซีรีส์ทำ
พื้นภูมิปธน.เซเลนสกี
ปธน.เซเลนสกี เกิดที่เมือง คริฟยี รีห์ (Kryvyi Rih) ซึ่งอยู่ในภูมิภาคที่มีการใช้ภาษารัสเซียสื่อสาร เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่นั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตอยู่
ปธน.เซเลนสกี ซึ่งนับถือศาสนายูดาห์ หรือศาสนายิว เปิดเผยว่า สมาชิกในตระกูลของเขานั้นต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมากในช่วงเกิดพันธุฆาตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ Holocaust โดยปูทวดของเขาและพี่น้องอีก 3 คนของปู่ของเขาถูกนาซีเยอรมนีสังหารด้วย
ในด้านประวัติการศึกษานั้น ผู้นำยูเครนคนปัจจุบันจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ คริฟยี รีห์ (Kryvyi Rih National University) แต่กลับไม่สนใจที่จะประกอบอาชีพตามสายที่เรียนมา และเริ่มต้นเป็นนักแสดงในวงการตลกแทน และประสบความสำเร็จมากมายในวงการบันเทิง ซึ่งรวมถึงการเป็นผู้ชนะการแข่งขันรายการเรียลลิตี้เต้นรำ Dancing with the Stars เมื่อปี ค.ศ. 2006 ก่อนจะร่วมแสดงนำในภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอมเมดี้ (Romantic Comedy) หลายเรื่องในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2009 และ 2019
ปธน.เซเลนสกี สมรสกับ โอเลนา คิยาชโก ซึ่งเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2003 และทั้งคู่มีบุตร 2 คน โดยคนโตเป็นบุตรสาววัย 17 ปี และคนเล็กเป็นบุตรชายวัย 8 ปี และผู้สื่อข่าวเชื่อว่า ทั้ง 3 คนนั้นยังคงใช้ชีวิตอยู่กับผู้นำยูเครนในกรุงเคียฟในเวลานี้
ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงเกิดความขัดแย้งในประเทศ
เมื่อปธน.เซเลนสกี ชนะการเลือกตั้งแล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลในปี ค.ศ. 2019 นั้น ยูเครนกำลังอยู่ในภาวะขัดแย้งที่ลากยาวมาถึง 5 ปี กับกองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ควบคุมเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งรวมกันเป็นที่รู้จักในนามแคว้นดอนบาสส์ โดยกลุ่มดังกล่าวได้รับการหนุนหลังโดยรัสเซียมาโดยตลอด ขณะที่ รัสเซียเองก็ทำการยึดครองคาบสมุทรไครเมียที่ตนผนวกเข้ากับประเทศเองเมื่อปี ค.ศ. 2014 ด้วย
สำหรับชาวอเมริกันแล้ว ชื่อของ ปธน.เซเลนสกี เริ่มเป็นที่คุ้นหูในปี ค.ศ. 2019 ระหว่างการดำเนินการถอดถอนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณสนับสนุนทางการทหารมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยยูเครนรับมือกับปัญหาความขัดแย้งข้างต้น แต่รัฐบาลยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะนำส่งงบช่วยเหลือดังกล่าว โดยไม่ให้เหตุผลว่าทำไม
การถอดถอน อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2019 อดีตปธน.ทรัมป์ ได้บอกกับ ปธน.เซเลนสกี ที่ร้องขอการอนุมัติขายอาวุธต่อต้านรถถังจากสหรัฐฯ ด้วยประโยคที่ว่า “ผมอยากให้คุณช่วยอะไรสักอย่าง” และขอให้ผู้นำยูเครนสั่งให้มีการสอบสวนการทำธุรกิจของครอบครัวประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งในเวลานั้นมีฐานะเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอยู่
บทสนทนาดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาในกระบวนการถอดถอนอดีตปธน.ทรัมป์ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่สังกัดพรรคเดโมแครต ใช้ประเด็นนี้เป็นเหตุผลหลักในการเดินหน้ากระบวนการดังกล่าว พร้อมชี้ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ สั่งการไม่ให้มีการนำส่งความช่วยเหลือที่สภาอนุมัติไปให้ยูเครน เพื่อบีบ ปธน.เซเลนสกี ให้ทำการสอบสวนเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองของตน
ในเวลานั้น ผู้นำยูเครนยืนยันว่า ตนไม่ได้รู้สึกถูกบีบคั้นโดยสหรัฐฯ และแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ตนไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของสหรัฐฯ ด้วย
ความนิยมที่เริ่มตกต่ำ
การปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศของปธน.เซเลนสกี นับตั้งแต่รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครนทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่ความนิยมในตัวของเขาภายในประเทศเองก็พุ่งขึ้น แม้แต่ในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้านที่ปกติมักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำคนปัจจุบันต่างๆ นานา ก็กลับมาแสดงความชื่นชมต่อความพยายามในการระดมผู้คนให้ออกมารับมือกับรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลังจากขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศไม่นาน ความนิยมในตัวปธน.เซเลนสกี ในสายตาชาวยูเครนนั้นอยู่ในช่วงขาลงอย่างหนัก เพราะประชาชนมองว่า เขาทำงานหนักไม่สมคำสัญญาที่จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่ขยายวงกว้างและเรื้อรังภายในประเทศนี้
และผลการสำรวจความนิยมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นชี้ว่า มีประชาชนชาวยูเครนเพียง 30% เท่านั้นที่ยังสนับสนุนปธน.เซเลนสกี อยู่
การปฏิเสธคำเตือนเรื่องแผนรุกรานของรัสเซีย
ปธน.เซเลนสกี ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอควรหลังออกมาแสดงความเห็นในเชิงไม่เชื่อรายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียมีความมุ่งมั่นที่จะส่งกองทัพบุกยูเครน
และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รัสเซียจะรุกคืบเข้ามาในยูเครนนั้น ปธน.เซเลนสกี พยายามเร่งเข้าหาผู้นำชาติยุโรปต่างๆ และจากทั่วโลกให้ออกโรงสนับสนุนยูเครน เพื่อจะกดดัน ปธน.ปูติน ให้สั่งถอยทัพของตนที่ประจำอยู่ตามแนวชายแดน แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้นำยูเครนกลับแสดงความไม่ชื่อข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ส่งมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย ทั้งยังมีการแสดงความเห็นเชิงกระทบกระเทียบกลับด้วย
ผู้ที่ติดตามความเป็นไปในยูเครนให้ความเห็นว่า ท่าทีของปธน.เซเลนสกี ที่เชื่อมั่นว่า ปธน.ปูติน นั้นเพียงต้องการจะขู่เกทับเท่านั้น อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนชาวยูเครนไม่ได้เตรียมตัวมากพอที่จะรับมือกับการรุกราน ซึ่งจะมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่หากผู้นำยูเครนจะยอมฟังและเชื่อในคำเตือนของสหรัฐฯ อย่างจริงจัง