ระหว่างที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย การวิจัยอันเกี่ยวเนื่องกับการรับมือโคโรนาไวรัส โควิด-19 ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีงานวิจัยเบื้องต้นที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ถึงความเชื่อมโยงของปัญหาสุขภาพจิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายและยาสามัญประจำบ้านใกล้ตัว ที่อาจช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตและอาการป่วยจากโควิดได้
โควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต
ถึงแม้ความเครียดจากภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 อาจมีอยู่โดยทั่วไปก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต มากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 เลย อ้างอิงจากการศึกษาชิ้นล่าสุดที่ใช้เวลาศึกษาข้อมูลกว่า 1 ปีที่โคโรนาไวรัสระบาดทั่วโลก โดยเก็บข้อมูลของผู้คน 154,000 คนที่หายป่วยจากโควิด-19 มาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน มาเปรียบเทียบกับผู้คนอีก 5.6 ล้านคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
การวิจัยเบื้องต้นที่ยังไม่ได้รับการศึกษายืนยันนี้ชี้ว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิดในการวิจัยนี้มีความเสี่ยงต่อภาวะโรควิตกกังวลใหม่ๆ มากขึ้น 35% มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากขึ้น 39% มีความเสี่ยงที่จะใช้ยากล่อมประสาทเพิ่มขึ้น 55% มีความเสี่ยงที่จะเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์มากขึ้น 34% และมีความเสี่ยงที่จะหันไปใช้ยาหรือสารเสพติดอื่นๆ มากขึ้น 20% ด้วย
นอกจากนี้ ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The BMJ ยังพบว่า 80% ของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ในการวิจัยครั้งนี้ มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะพบปัญหาความเสื่อมถอยของระบบประสาท และ 41% ของคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อปัญหาการนอนหลับ
ไซยาด อัล-อาลี (Ziyad Al-Aly) หัวหน้าทีมวิจัยจาก Washington University ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ให้ทัศนะในวารสาร The BMJ ว่า ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 นี้สูงขึ้นแม้แต่ในหมู่ผู้ที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง แต่อาการเหล่านี้จะพบมากขึ้นในกลุ่มที่ล้มป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล
อัล-อาลี เพิ่มเติมว่า ผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตต่างๆ นี้ ไม่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเพียงลำพัง และว่าทุกคนจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่ควรได้รับความใส่ใจในระดับผู้กำหนดนโยบายและรัฐบาล ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสขึ้นกว่านี้
ระดับเอสโตรเจนสูง อาจลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้
อีกการศึกษาหนึ่งจากสวีเดนที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Open เมื่อต้นสัปดาห์ พบว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง มีความเชื่อมโยงต่อการช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้
ทีมวิจัยในสวีเดน ศึกษาข้อมูลของผู้หญิงสูงวัย 14,685 ราย ที่ติดเชื้อโควิด-19 และทุกคนอยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นระดับที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงลดฮวบลงอย่างมาก โดยในกลุ่มนี้มีผู้หญิง 17% ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเพื่อลดอาการวัยทอง ในการศึกษานี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้วพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มเติมมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยลงราว 53% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม
อย่างไรก็ตาม พญ. มาลิน ซุนด์ (Malin Sund) จาก Umea University ระบุว่า การศึกษาเชิงสังเกตนี้ไม่ได้ยืนยันว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้หญิงในการศึกษานี้ เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อก่อนที่วัคซีนโควิดจะได้รับการพัฒนาและอนุมัติการใช้เสียอีก ซึ่งทีมวิจัยเห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน และว่ายังไม่สามารถประเมินศักยภาพของฮอร์โมนเอสโตรเจนในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนแล้วว่ามีผลในการป้องกันการเสียชีวิตจากโควิดจากข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่
ขณะนี้การศึกษาความเชื่อมโยงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในการป้องกันการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมที่ Tulane University ในนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา
‘ยาลดกรด’ อาจช่วยลดอาการป่วยจากโควิด
ปิดท้ายด้วยการศึกษาเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน อย่างยาลดกรด ว่าอาจช่วยลดอาการป่วยจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนได้ หากได้รับยาลดกรดในปริมาณที่สูง อ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารและตับ Gut ที่เก็บตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 55 คน ซึ่งราว 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นคนผิวดำและ 1 ใน 4 ในกลุ่มที่ทำการศึกษามีเชื้อสายฮิสแปนิก
ทีมวิจัยให้ยาลดกรดที่มีสารฟาโมทิดิน (famotidine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาลดกรด Pepsid ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยาลดกรดดังกล่าวหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยให้กับกลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก โดยให้ยา 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์
ในการวิจัยกลุ่มเล็กนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารฟาโมทิดิน ฟื้นตัวจากอาการเกี่ยวเนื่องจากโควิด-19 เช่นการสูญเสียการได้กลิ่นและรู้รส หายใจลำบาก และปวดท้อง ได้เร็วกว่า และการได้รับยาลดกรดที่มีสารฟาโมทิดิน ยังช่วยให้ผู้ป่วยในการศึกษามีอาการดีขึ้น ในแง่ของการลดอาการอักเสบในร่างกาย โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแต่อย่างใด
นพ. โทเบียส จาโนวิตซ์ (Tobias Janowitz) จาก Northwell Health and Cold Spring Harbor Laboratory ระบุว่า ทีมวิจัยหวังว่าข้อมูลการวิจัยนี้จะนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตที่จำเป็นต่อการยืนยันผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยสารฟาโมทิดิน
(ในรายงานชิ้นนี้รวบรวมงานวิจัยเบื้องต้นที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม)
ที่มา: รอยเตอร์