เมื่อเจ็ดเดือนก่อน จิรายุทธ ลัทธิวงศกร ว่าที่นายแพทย์เชื้อสายไทยในสหรัฐฯ เดินเข้าสู่ศาลสูง (Supreme Court) ของอเมริกา ในฐานะโจทก์ร่วมในคดีประวัติศาสตร์ ฟ้องร้องรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยกเลิกโครงการ DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals Program) ที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนหนุ่มสาวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายพร้อมครอบครัวเมื่อยังเยาว์วัย ไม่ให้ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ
ในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีตามเวลาในสหรัฐฯ จิรายุทธ ผู้อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียโดยไม่มีวีซ่าตั้งแต่ 9 ขวบ แต่ได้รับการคุ้มครองภายใต้โครงการ DACA ก็ได้รับข่าวที่เขาและผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 650,000 คนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อคณะตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องของรัฐบาลของทรัมป์ที่ต้องการยุติโครงการดังกล่าว
“เปิดดูตั้งแต่ตีห้า ว่าวันนี้จะมีข่าวหรือยัง ประมาณเจ็ดโมง อยู่ดี ๆ โทรศัพท์ก็มีเสียงเยอะมาก ก็เลยรู้แล้วว่าตัดสินออกมาแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ดี พอเช็ค คือ เพื่อน ทุกคนที่อยู่ใน lawsuit (ทุกคนที่เป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้อง) ต่างก็อัพเดทกันว่า ข่าวออกแล้ว เราชนะ ทุกคนก็ดีใจกันหมด” จิรายุทธให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย หนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ทราบข่าว
คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของ “ดรีมเมอร์” (Dreamers) คำที่ใช้เรียกบรรดาคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายพร้อมครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก และถือเป็นการสกัดกั้นความพยายามของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะยกเลิกโครงการอายุ 8 ปีซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา
โอบามาประกาศบังคับใช้โครงการ DACA โดยให้เหตุผลว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโต เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตในอเมริกา ไม่ต่างจากคนอเมริกันทั่วไป เพียงแต่พวกเขาไม่มีเอกสาร หรือวีซ่า
ในขณะที่รัฐบาลของทรัมป์ มองว่า DACA เป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะโอบามาประกาศใช้ตามอำเภอใจ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลของทรัมป์ยังอ้างว่า DACA เป็นโครงการที่กระตุ้นให้มีเด็กและเยาวชนลักลอบเข้าอเมริกาผิดกฎหมายมากขึ้น และแย่งงานไปจากชาวอเมริกัน
ตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะชี้ว่าโครงการ DACA หรือการยุติโครงการนี้ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่พิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Department of Homeland Security) ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและให้คำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอในการยุติโครงการดังกล่าว ด้วยมติ 5 ต่อ 4 เสียง โดยหัวหน้าคณะตุลาการศาลสูง จอห์น โรเบิร์ตส ออกเสียงสนับสนุนตุลาการฝ่ายเสรีนิยมอีก 4 คน
“ไม่คาดหวังเลยว่าจะชนะ คาดหวังว่าจะแพ้ ถ้าพูดตรง ๆ เพราะเรารู้กันอยู่ว่า ตุลาการส่วนมากจะ (มีแนวคิดทางการเมือง) ออกไปทาง republican ส่วนหัวหน้าคณะตุลาการ จอห์น โรเบิร์ตส เราคาดหวังว่าเขาจะเป็น swing vote (คะแนนเสียงที่คาดเดาได้ยาก) นะครับ” จิรายุทธกล่าวกับวีโอเอไทย
“ตกใจครับ แล้วก็กำลังตะลึง กำลังค่อย ๆ คิดว่าหมายความว่าอย่างไรสำหรับชีวิตผมเอง สำหรับพัน ๆ คน และสำหรับ movement (การเคลื่อนไหว) ของ immigration rights (สิทธิของผู้อพยพเข้าเมือง) ในอเมริกา เพราะว่านี่เป็นชัยชนะแรกที่ใหญ่ระดับนี้ ตั้งแต่ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี”
"เราชนะในวันนี้เพราะว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (undocumented immigrant) ครอบครัว และพันธมิตรผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องนี้ We fought for this (เราต่อสู้กันมาเพื่อสิ่งนี้)...เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว ที่มีเรื่องการระบาดของโควิด-19 ก็แสดงให้ว่ามี (ผู้เข้าร่วมโครงการ DACA) กี่พันกี่หมื่นคนที่เป็น essential worker (คนทำงานที่ขาดไม่ได้) ในภาคเกษตร หรือในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็น paramedic มีคนหลายคนมากที่ช่วยแบ่งบันเรื่องของตัวเองว่าการเป็น DACA คืออะไร และมันไม่ได้ง่าย แต่เพราะทุกคนช่วยกัน เราถึงมาถึงจุดนี้ได้"
พ่อแม่ของจิรายุทธ หรือ นิว เดินทางมาอเมริกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2541 เพื่อหาช่องทางทำมาหากินและเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่ธุรกิจทำบ้านจัดสรรของพวกเขาในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ก่อนที่จะพาลูกทั้งสามคน คือ คุณจิรายุทธ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 9 ขวบ พร้อมพี่ชาย และพี่สาวมาอยู่ด้วย โดยไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาต้องคอยปิดบังสถานะของตัวเอง
สามพี่น้องตระกูลลัทธิวงศกร ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสหรือทรัพยากรบางอย่างได้ เช่น การขอทุนการศึกษาของรัฐ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือการทำใบขับขี่ เพราะไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง และไม่มีหมายเลข Social Security ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวที่ต้องใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในอเมริกา
จิรายุทธเข้าร่วมโครงการ DACA ทันทีหลังจากที่มีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2555 สิทธิประโยชน์ของ DACA มีอายุครั้งละ 2 ปี และเปิดให้ต่ออายุได้ แต่จะไม่นำไปสู่การเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ อย่างถาวรแต่อย่างใด
นอกจากจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว DACA ยังทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนหนังสือ และขอใบประกอบอาชีพ หรือ work permit ได้ และนั่นทำให้ จิรายุทธ ได้เข้าเป็นนักเรียนแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย University of California San Francisco หรือ UCSF ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นนักเรียนที่ไม่มีวีซ่าคนแรกที่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ UCSF เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ปัจจุบันชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 30 ปี เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาล Zuckerberg San Francisco General Hospital and Trauma Center ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
คำตัดสินของคณะตุลาการศาลสูง หมายความว่า หากรัฐบาลของ ปธน. ทรัมป์ยังต้องการจะเดินหน้ายุติโครงการ DACA เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะต้องมีเหตุผลที่แน่นหนากว่านี้ The New York Times รายงานว่า หากรัฐบาลของทรัมป์เลือกที่จะเดินหน้า กระบวนการดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน
เชื่อว่าคำตัดสินของศาลสูงจะส่งผลกระทบต่อการหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ ในขณะที่เหลืออีกเพียงไม่ถึง 5 เดือนก่อนการเลือกตั้ง โดยทรัมป์ได้รับปากต่อบรรดาผู้สนับสนุนว่าจะหาทางยกเลิกโครงการ DACA ตั้งแต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน
“ถามว่ากลัวมั้ยว่าทรัมป์จะลองอีกทีนึง ผมคิดว่ามันก็เป็นความเป็นไปได้ ไม่มีใครพูดว่าจะไม่เกิดอีก แต่ที่เราชนะเคสนี้มาแล้ว ก็คือโชว์ว่า DACA เป็นโปรแกรมที่ได้รับการสนับสนุนเยอะมาก ตามกฎหมายมี legal backing (การรองรับทางกฎหมาย) ถ้าเกิดรัฐบาลของทรัมป์จะลองอีกที ต้องหา argument (ข้อโต้แย้ง) ที่ดีกว่านี้ ซึ่งเราเชื่อว่ามันไม่มี”