ครอบครัวลัทธิวงศกรเคยมีธุรกิจบ้านจัดสรรในย่านดอนเมือง แต่หลังจากโดนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 เล่นงาน บางวัน คุณกัมพลและคุณยุวดี ลัทธิวงศกรเหลือเงินติดตัวอยู่ไม่กี่ร้อยบาท ทั้งคู่จึงตัดสินใจย้ายมาหางานทำที่อเมริกา
แผนแรกของทั้งสอง คือให้ลูกทั้งสามคน รวมทั้งคุณจิรายุทธอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ จนกว่าพวกเขาจะตั้งตัวได้ในอเมริกา แต่เมื่อญาติพาเด็กทั้งสามคนมาเยี่ยม แผนการเดิมก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อคุณยุวดี บอกว่าเธอทนคิดถึงลูกไม่ไหว และดึงดันให้ลูก ๆ ทั้งสามคนอยู่อเมริกาด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นการอยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าเป็น “โรบินฮู้ด” เพราะไม่นานหลังจากนั้น วีซ่านักท่องเที่ยวที่ใช้เข้าประเทศของทุกคนก็หมดอายุลง
“เสียใจเหมือนกันว่าเราคิดผิดหรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่เอาลูกมา เราก็ต้องอยู่ห่างไกลลูก คือไม่มีกำลังใจในการทำงาน เพราะเราคิดถึงลูก ทีนี้พอลูกมาอยู่แล้วแล้วเขาอยู่ได้ ก็ให้กำลังใจเขาว่าลูกต้องอยู่ให้ได้ เราต้องผ่านพ้นมันไปได้"
“เสียใจเหมือนกันว่าเราคิดผิดหรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่เอาลูกมา เราก็ต้องอยู่ห่างไกลลูก คือไม่มีกำลังใจในการทำงาน เพราะเราคิดถึงลูก ทีนี้พอลูกมาอยู่แล้วแล้วเขาอยู่ได้ ก็ให้กำลังใจเขาว่าลูกต้องอยู่ให้ได้ เราต้องผ่านพ้นมันไปได้"
คุณกัมพลและคุณยุวดีทำงานหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นงานร้านอาหาร เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก และส่งลูกทั้งสามเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลในตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย
"คือลำบากมาก อยู่ที่โน่นเราเป็นเจ้าของเอง ทุกอย่างเราเป็นเจ้านาย แต่มาอยู่ที่นี่เราต้องทำตามคำสั่งเขา แล้วก็ต้องแอบ ๆ ซ่อน ๆ ไปอยู่อพาร์ทเมนท์ เขาให้อยู่ห้องนอนเดียวอยู่ได้สามคน เราอยู่ 5 คน เวลาลูกกลับจากโรงเรียนเราก็ต้องบอกว่าเข้าเบา ๆ นะลูกเดี๋ยว neighbor (เพื่อนบ้าน) เค้าจะแจ้ง ถ้าเสียงดัง"
คุณจิรายุทธ หรือคุณนิว จำได้ว่าเขาและพี่ ๆ อีกสองคนถูกกำชับไม่ให้พูดถึงสถานะของตัวเองให้คนอื่นฟัง
“มองย้อนกลับไป คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซนต์หรอกครับว่า ชีวิตในอเมริกาไม่มีใบ จะมีอุปสรรคยังไงบ้าง...ยากตรงที่ว่า ต้องใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง เราก็จะไม่พูดเรื่องอิมมิเกรชั่นสเตตัสให้ใครได้ฟังเลย ถ้าเกิดมีใครพูดเรื่อง green card, citizenship เรื่องวีซ่า เราจะหันไปอีกด้านหนึ่งเลย จะเดินไปอีกด้านหนึ่ง จะบอกว่า จะบอกว่า I don't know ผมไม่รู้ แต่ที่จริงแล้ว ผมรู้ว่า เราอยู่ที่นี่ ไม่ถูกต้อง ไม่มีใบ"
ในแต่ละวัน คุณจิรายุทธใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กอเมริกันทั่วไป ที่ไปโรงเรียน เที่ยวเล่น แต่ก็มักจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ตอกย้ำให้เขารู้ว่าเขาแตกต่างจากคนอื่น เช่น การที่เขาไม่สามารถไปทำใบขับขี่ หรือการที่ไม่สามารถไปทำงานพาร์ทไทม์ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเหมือนเพื่อน ๆ ได้ เพราะเขาไม่มีเอกสารที่ยืนยันสถานะของตัวเองในอเมริกา
แต่การได้เห็นพ่อและแม่ทำงานหนัก เป็นแรงผลักดันให้เขาทำหน้าที่ของตัวเอง คือตั้งใจเรียนหนังสือให้ดีที่สุด
ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 29 ปี ได้รางวัลเรียนดีนับไม่ถ้วน เขาเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ที่ University of California San Francisco (UCSF) สถาบันชั้นนำในแคลิฟอร์เนีย
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเขา เกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าเรียนปริญญาตรีทื่ Univesity of California Berkeley (UC Berkeley) มหาวิทยาลัยชื่อดัง ที่นั่น เขาได้ทุนการศึกษาจากองค์กรฯ ไม่หวังผลกำไร ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาเห็นว่ามีหน่วยงานที่เห็นคุณค่า “โรบินฮู้ด” แบบเขาแล้ว ยังทำให้เขาได้รู้จัก แลกเปลี่ยน และเป็นเพื่อนกับนักเรียนทุนที่อยู่ในสถานะ undocumented immigrant แบบเดียวกันอีกด้วย
"มันเป็นครั้งแรกที่เราได้อยู่ในที่ที่ว่า การเป็น undocumented immigrant ไม่ใช่ว่ามีแต่ความกลัว struggle (ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก) หรือเรื่องที่เสียใจ เป็นครั้งแรกเลยที่ทุกคนได้ถูก celebrated ว่าทุกคน work hard มาถึงจุดนี้แล้ว หรือที่ครอบครัวยูตัดสินใจที่จะย้ายมาประเทศใหม่ มาเริ่มชีวิตใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม. Only someone strong can do."
"มันเป็นครั้งแรกที่เราได้อยู่ในที่ที่ว่า การเป็น undocumented immigrant ไม่ใช่ว่ามีแต่ความกลัว struggle (ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก) หรือเรื่องที่เสียใจ เป็นครั้งแรกเลยที่ทุกคนได้ถูก celebrated ว่าทุกคน work hard มาถึงจุดนี้แล้ว หรือที่ครอบครัวยูตัดสินใจที่จะย้ายมาประเทศใหม่ มาเริ่มชีวิตใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม. Only someone strong can do."
ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้คุณจิรายุทธเชื่อว่าการแบ่งปันเรื่องราว อุปสรรค และปัญหาของคนไร้วีซ่าอย่างเขาให้สังคมได้รับรู้ การเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ จะสร้างความตระหนักรู้ และช่วยผลักดันให้รัฐสภาของสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายคุ้มครองเยาวชนและคนหนุ่มสาวที่เป็น undocumented immigrants นำไปสู่การได้ใบอนุญาตทำงาน และการเป็นพลเมืองในที่สุด
แต่การ “ออกสื่อ” ของลูกชายคนเล็กของบ้าน ทำให้ครอบครัวลัทธิวงศกรหวาดหวั่นและกังวลอยู่ไม่น้อย ว่าวันหนึ่งเขาจะโดนส่งตัวกลับเมืองไทย
คุณกัญธลักษณ์ ผู้เป็นพี่สาว บอกว่าเธอรู้สึกตกใจ เพราะไม่อยากให้มีคนรู้เรื่องครอบครัว แต่ในที่สุด ทุกคนก็สามารถทำใจ และทำความเข้าใจบทบาทดังกล่าวของน้องชายได้ รวมถึงภารกิจล่าสุด ที่เขาเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องร้อง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการจะยกเลิกโครงการ DACA ที่คุ้มครองเยาวชนและหนุ่มสาวที่ครอบครัวเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่างตัวเธอและน้องชาย
"คือตกใจ แต่ว่าพอคิด ๆ แล้ว นั่งคุยแล้ว ก็คือ โอเค มันจำเป็น คือเขาเก่ง เอาจริง ๆ แล้วเขาก็เก่ง แล้วถ้าเราเทียบกับคนอื่น ๆ มันไม่ได้มีใครที่เขาจะ established ได้เหมือนเขา อย่างเขามีองค์กรของเขาเอง เรียนจบจากสถาบันดัง ๆ ก็คุยกับคุณพ่อคุณแม่ ก็คุยกันเองว่า มันต้องแบบนี้นะ รับมือได้ไหม แล้วก็สิ่งที่เขาทำมันคือ for greater good เพื่อคนส่วนใหญ่ ช่วยเหลือคนอีกตั้งหลายคน เกือบล้านคนที่เขาเป็นเหมือนเรา มันเป็นสิ่งที่ดี"