นายสตีฟ บีกุน ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ด้านกิจการเกาหลีเหนือ กล่าวในที่ประชุมเรื่องนโยบายนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ยอมรับเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป
และว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงท่าทีเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นพ้องต้องกันอย่างมีเอกภาพด้วย
คำกล่าวของตัวแทนพิเศษของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านเกาหลีเหนือนี้ นับเป็นเครื่องบ่งชี้ล่าสุดที่แสดงว่า วอชิงตันกำลังปรับท่าทีและจุดยืนให้แข็งกร้าวมากขึ้น หลังการประชุมสุดยอดครั้งที่สองที่กรุงฮานอย ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ กับนายคิม จอง อึนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการประชุมที่กรุงฮานอย เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯได้เคยแสดงท่าทีว่า อาจเปิดรับเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็หมายถึงว่าเปียงยางจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ขณะที่วอชิงตันค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเป็นการตอบแทนเช่นกัน
แต่นายสตีฟ บีกุน ได้กล่าวย้ำในวันนี้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ยกเลิกมาตรการลงโทษใดๆ จนกว่ากระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะเสร็จสมบูรณ์ ถึงแม้ทูตพิเศษด้านเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ ผู้นี้จะแสดงทีท่าว่ายังมีเรื่องหรือพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากการยกเลิกมาตรการลงโทษซึ่งสหรัฐอาจทำให้ได้ก็ตาม
ขณะนี้เกาหลีเหนือต้องการให้วอชิงตันผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ก่อนที่ตนจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์
ถึงกระนั้นก็ตาม หลังการประชุมที่กรุงฮานอยแล้ว สหรัฐฯ ได้ขู่ว่าจะขยายมาตรการลงโทษออกไปอีก และประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวหลังการประชุมที่กรุงฮานอยด้วยว่า ตนจะรู้สึกผิดหวังอย่างมากหากเกาหลีเหนือกลับไปทดลองจรวดหรือขีปนาวุธอีก
และถึงแม้จะมีภาพถ่ายดาวเทียมของเอกชนที่แสดงหลักฐานว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังสร้างสถานีส่งดาวเทียม และมีกิจกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นฐานประกอบและยิงจรวดขีปนาวุธก็ตาม แต่นายสตีฟ บีกุน ทูตพิเศษของสหรัฐฯ เรื่องเกาหลีเหนือ ก็พยายามลดความสำคัญของภาพถ่ายดาวเทียมนี้ลง โดยกล่าวแต่เพียงว่า ตนไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด
ขณะที่เกาหลีเหนือยืนยันว่า การส่งดาวเทียมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศอย่างสันตินั้น สหรัฐฯ ก็มองว่า การส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือเป็นการทดสอบเพื่อบังหน้าเทคโนโลยีการยิงจรวดขีปนาวุธ
และนักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า เปียงยางอาจใช้เรื่องการทดสอบจรวดหรือการส่งดาวเทียมครั้งใหม่ เพื่อเพิ่มฐานะความได้เปรียบสำหรับการเจรจาต่อรองของตน