ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กรุงปักกิ่งพร้อมประชุมฝ่ายนิติบัญญัติประจำปี ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจรุมเร้าจีน


แฟ้มภาพ - ภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2566 แสดงให้เห็นปธน.สี จิ้นผิง และผู้นำจีนอื่น ๆ ร่วมร้องเพลงชาติ ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ในกรุงปักกิ่ง
แฟ้มภาพ - ภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2566 แสดงให้เห็นปธน.สี จิ้นผิง และผู้นำจีนอื่น ๆ ร่วมร้องเพลงชาติ ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ในกรุงปักกิ่ง

ในสัปดาห์นี้ สมาชิกชนชั้นนำทางการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจีนนับพันคนมีกำหนดมารวมตัวกันที่กรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีด้านนิติบัญญัติรายการใหญ่ ในขณะที่ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้กำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจรุนแรงอยู่

การประชุมสองรายการที่มีชื่อเรียกว่า Two Sessions หรือในภาษาจีนว่า “lianghui” คือ เวทีที่จะมีการนำเสนอภาพรวมของวาระนโยบายของรัฐบาลจีนในปีนั้น ๆ โดยจะเริ่มต้นด้วยการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (Chinese People's Political Consultative Conference : CPPCC) ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม ก่อนจะมีการประชุมประจำปีฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภาจีนในวันอังคารที่ 5 มีนาคม ที่จะมีนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง เป็นผู้นำเสนอรายงานการทำงานของรัฐบาลฉบับแรกของเขา

ท่ามกลางสภาพความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปีที่แล้ว นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การประชุมปีนี้น่าจะเน้นไปที่ประเด็นการรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจของกรุงปักกิ่งเป็นหลัก รวมทั้ง อาจมีการเน้นย้ำประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ เรื่องของความสัมพันธ์ในช่องแคบไต้หวัน และการแต่งตั้งบุคลากรใหม่ ๆ ด้วย

เหวิน ตี้ ซุง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) บอกกับ วีโอเอ ว่า “เมื่อพิจารณาถึงภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินอยู่ การที่ผู้นำ [พรรคคอมมิวนิสต์จีน] จะสามารถรวมพลังเดินหน้าการประชุมทั้งสองรายการให้ผ่านพ้นไปและผลักดันให้เกิดฉันทามติภายในกลุ่มผู้นำของพรรคเพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายทางนโยบายที่นำไปปฏิบัติได้จริง คือ เกณฑ์มาตรฐานสำคัญสำหรับการประเมินระดับอำนาจศูนย์กลางของพรรคนี้”

ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

หลังการยกเลิกยุทธศาสตร์ “โควิดเป็นศูนย์” เมื่อปลายปี 2022 จีนต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งกรณีที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สร้างหนี้จำนวนมหาศาล อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ความมั่นใจผู้บริโภคและครัวเรือนที่ตกต่ำ และความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่อ่อนตัว

หลังรายงานเศรษฐกิจปีที่แล้วแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์อันย่ำแย่ไปแล้ว ปี 2024 ก็เริ่มต้นด้วยภาวะหุ้นจีนตกสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2 รายของจีนที่มีหนี้ล้นตัวอยู่ อันได้แก่ เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) และ คันทรีการ์เดน (Country Garden) ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หนักขึ้นอีก ซึ่งก็คือการที่รายหนึ่งได้รับคำสั่งให้เลิกกิจการ และอีกรายถูกอุทธรณ์ให้เลิกกิจการ

สถานการณ์ที่ว่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางรายกล่าวว่า กรุงปักกิ่งไม่น่าจะผลักดันให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในการประชุม Two Sessions ครั้งนี้

เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส ผู้อำนวยการโครงการจีน ของศูนย์แมนส์ฟิลด์ (Mansfield Center) จากมหาวิทยาลัยแห่งมอนทานา (University of Montana) บอกกับ วีโอเอ ว่า ตนเองรู้สึกสงสัยว่า รัฐบาล “กรุงปักกิ่งจะเดินหน้าแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ของตนจริงหรือไม่”

และขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนเฝ้าพูดถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเศรษฐกิจตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โรเบิร์ตส์ ให้ความเห็นว่า ผู้นำระดับสูงของจีน โดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง “ไม่เชื่อในเรื่องการปล่อยมือจากการควบคุมเศรษฐกิจ” นัก แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่จีนต้องทำเพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งหลายที่ตนเผชิญอยู่ในเวลานี้

โรเบิร์ตสและนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ คิดว่า กรุงปักกิ่งจะพยายามเน้นย้ำแนวคิดด้านเศรษฐกิจสองเรื่องที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ซึ่งรวมถึง ปธน.สี ด้วย พูดย้ำมาตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ การพัฒนาคุณภาพสูงและแรงผลักดันการสร้างประสิทธิพลใหม่ ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดถึงอ้างถึงโมเดลการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ลดการพึ่งพามาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่แต่เน้นย้ำไปที่ “นวัตกรรม” มากขึ้น

โรเบิร์ตส์ บอกกับ วีโอเอ ว่า “การพัฒนาคุณภาพสูงเป็นคำขวัญที่บอกให้ยอมรับการเจริญเติบโตที่ลดลงขณะที่เฝ้าหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ” และเสริมว่า ตนไม่ได้คาดหวังว่าจีนจะเปิดตัวมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่ออกมาในช่วงการประชุม Two Sessions เลย

คณะกรรมการถาวรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ โพลิทบูโร (Politburo) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 24 คน เผยว่า จะเลือกใช้เครื่องมือทางด้านการคลังเพื่อสนับสนุนสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศมากกว่า แต่ก็ให้คำมั่นว่า จะสร้าง “สภาพแวดล้อมด้านนโยบายที่คาดเดาได้ โปร่งใสและมั่นคง” ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับนโยบายการคลัง และทำให้มั่นใจว่า นโยบายด้านการเงินนั้นยังจะ “แม่นยำ มีความเป็นกลางและยังยืดหยุ่น” ต่อไป

และแม้จีนจะยังเผชิญกับแรงต้านทางเศรษฐกิจอยู่ โรเบิร์ตส์ คาดว่า จีนน่าจะประกาศเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2024 ที่ 5% โดยระบุว่า “[เนื่องจาก] เมืองใหญ่ที่สุด 26 แห่ง [ในจีน] ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2024 ของตนที่สูงกว่าระดับ 5% เล็กน้อย นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่า ตัวเลข (ของรัฐบาลปักกิ่ง) ของระดับประเทศจะออกมาที่ประมาณ 5%”

ความมั่นคงแห่งชาติ

ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวว่า ประเด็นความมั่นคงแห่งชาติน่าจะยังเป็นธีมสำคัญในการประชุมใหญ่ของปีนี้ โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกของคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress Standing Committee) เพิ่งลงมติผ่านร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันระวังความลับแห่งรัฐ (Law on Guarding State Secrets) ซึ่งเพิ่มอำนาจให้กฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงข้อมูลทุกประเภทที่ถูกจัดให้เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ

หวัง ซิน-เสียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากมหาวิทยาลัยเฉิงชีแห่งชาติ (National Chengchi University) ในไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ว่า “(ปธน.)สี พยายามผลักดันรูปแบบธรรมาภิบาลที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงแห่งชาติในลำดับต้น ๆ ดังนั้น ขณะที่ นโยบายเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการประชุมสองรายการของปีนี้ รัฐบาลจีนก็น่าจะยังหยิบยกเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาแบบสอดประสานขึ้นมาพูดอยู่ดี”

หวัง กล่าวด้วยว่า กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีนเข้ามาบทบาทมากขึ้นในประเด็นที่อาจไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบหลักของตนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนั่นแสดงให้เห็นว่า น่าจะมีการขยายอำนาจของกระทรวงนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เป็นได้

นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า เรื่องของความมั่นคงนั้นบดบังด้านอื่น ๆ ของธรรมาภิบาลจีนไปแล้ว

อัลเฟรด วู ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) บอกกับ วีโอเอ ว่า “ความมั่นคงถูกจัดให้มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ เหนือเรื่องอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจและการทูต” แล้ว

ประเด็นช่องแคบไต้หวัน

ผู้สังเกตการณ์อื่น ๆ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญและควรจับตามองก็คือ จุดยืนและวาทกรรมของจีนเกี่ยวกับประเด็นช่องแคบไต้หวัน ในการประชุม Two Sessions เพราะไต้หวันเพิ่งได้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ารับหน้าที่บริหารในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเฝ้าเรียกว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน และประกาศลั่นที่จะ “สู้อย่างเฉียบขาด” ต่อความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้ไต้หวันประกาศอิสรภาพจากจีนด้วย

หวัง ซิน-เสียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากมหาวิทยาลัยเฉิงชีแห่งชาติ (National Chengchi University) ในไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ว่า “เราต้องใส่ใจจับตาดูว่า ผู้นำจีนจะพูดอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นไต้หวันในรายงานการทำงานของรัฐบาล และว่า กรุงปักกิ่งจะตัดสินใจทบทวนกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งพูดถึงการใช้หนทางที่ไม่ใช่วิธีสันติต่อไต้หวัน หรือไม่”

เขากล่าวด้วยว่า กรุงปักกิ่งไม่น่าจะเปิดตัวมาตรการนโยบายใหม่ ๆ เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ในช่องแคบไต้หวัน

และเพราะอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง ลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า กรุงปักกิ่งน่าจะแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ในระหว่างการประชุมใหญ่สัปดาห์นี้

หลิว เจียนเฉา ผู้ประสานงานด้านต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ ผู้ที่ถูกคาดว่า จะได้รับแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่นี้

เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส ผู้อำนวยการโครงการจีน จากมหาวิทยาลัยแห่งมอนทานา ซึ่งกล่าวว่า หลิวเป็นผู้ที่มีเสน่ห์และพูดภาษาอังกฤษได้ดี ให้ความเห็นว่า ตัวเต็งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่นี้ “คือ คนที่ใช่” ที่จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า “[เพราะ] ดูแล้วว่า (ปธน.)สี ตัดสินใจแล้วว่า ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ คือสิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนา [การแต่งตั้งหลิว] น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG