เมื่อวันอังคาร ทูตจากปากีสถาน รัสเซีย และจีน หารือกับรักษาการนายกรัฐมนตรีของกลุ่มตาลิบันในกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน โดยทูตทั้งสามประเทศผลักดันให้กลุ่มตาลิบันจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นายแมนซัวร์ อาห์เหม็ด ข่าน ทูตปากีสถานประจำอัฟกานิสถาน ทวีตข้อความว่า นายโมฮัมหมัด ซาดิค ทูตพิเศษของปากีสถานด้านอัฟกานิสถาน นายซาเมียร์ คาบูลอฟ ทูตรัสเซียประจำอัฟกานิสถาน และนายเยว เซียยง ทูตพิเศษของจีนด้านอัฟกานิสถาน เดินทางเยือนกรุงคาบูลและหารือกับนายโมฮัมหมัด ฮาซาน อัคฮุนด์ รักษาการนายกรัฐมนตรีของกลุ่มตาลิบัน และแกนนำอาวุโสคนอื่น ๆ เพื่อหารือด้านสันติภาพ ความมั่นคง และการปกครองที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
การจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องต่ออัฟกานิสถานจากประเทศเพื่อนบ้านและจากนานาชาติ
หลังการหารือในการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่กรุงดูชานเบ ประเทศทาจิกิสถาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย จีน ปากีสถาน และอิหร่าน เน้นย้ำว่า จะต้องมีการสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติในอัฟกานิสถาน เพื่อให้มีรัฐบาลที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายการเมืองและทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ
ทั้งนี้ แม้กลุ่มตาลิบันจะให้คำมั่นว่าจะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรี แต่คณะรัฐมนตรีของกลุ่มตาลิบันกลับเต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นผู้จงรักภักดีต่อกลุ่ม มีสมาชิกเป็นชนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คน และไม่มีผู้หญิงเป็นสมาชิกเลย
นายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้หนทางข้างหน้าของกลุ่มตาลิบันมีปัญหา เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายไม่ได้มีส่วนร่วมจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองในไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งจะทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มั่นคงและโกลาหล และอาจกลายเป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายได้
นายซาบิอัลลาห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลิบัน ระบุก่อนหน้านี้ว่า คณะรัฐมนตรีนี้เป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราวและอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มตาลิบันคนอื่นกลับแสดงความไม่เต็มใจต่อการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
เมื่อวันอาทิตย์ นายโมฮัมหมัด โมบีน หนึ่งในแกนนำกลุ่มตาลิบัน ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ อาเรียนา ทวี ของอัฟกานิสถานว่า ทางกลุ่มตาลิบันไม่ให้สิทธิ์ผู้ใดในการเรียกร้องให้มีรัฐบาลที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเขาระบุว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเปรียบเสมือนกับการขอให้กลุ่มตาลิบันนำสายลับจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล
หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างทาจิกิสถานเป็นประเทศที่วิจารณ์กลุ่มตาลิบันรุนแรงที่สุด โดยประชากรในอัฟกานิสถานกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวทาจิกส์ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม National Resistance Front of Afghanistan หรือ NRFA ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านตาลิบันเพียงกลุ่มเดียวในจังหวัดปัญจ์ชีร์
กลุ่มตาลิบันอ้างว่าได้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านในจังหวัดดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่ม NRFA ระบุว่า ทางกลุ่มซ่อนตัวอยู่ในภูเขาและพยายามจัดกำลังใหม่เพื่อเตรียมทำสงครามกองโจรในระยะยาว
เมื่อวันอังคาร นายอาห์มาดุลลาห์ มุตตาคิ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลุ่มตาลิบัน ทวีตภาพการพบปะกับทูตของปากีสถาน รัสเซีย และจีน โดยเขาระบุว่า รัฐมนตรีรักษาการด้านการต่างประเทศและการคลังของกลุ่มตาลิบันก็เข้าร่วมการหารือนี้ด้วยเช่นกัน
ระหว่างการเยือนกรุงคาบูล ทูตทั้งสามยังหารือกับอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน และนายอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ ประธานสภาสูงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
ทูตปากีสถานระบุว่า การหารือนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวในอัฟกานิสถาน
ในขณะเดียวกัน กลุ่มตาลิบันได้เสนอชื่อนายซูฮาอิล ชาฮีน โฆษกของกลุ่มตาลิบันในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ให้เป็นทูตคนใหม่ประจำสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และขอให้นายชาฮีนได้หารือกับผู้นำประเทศต่างๆ ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งของยูเอ็นจะต้องพิจารณาคำขอดังกล่าว ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการจะไม่จัดการประชุมก่อนสิ้นสุดวาระการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้
เมื่อวันจันทร์ นายอาเมอร์ ข่าน มุตตาคิ รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มตาลิบัน ยื่นคำขอดังกล่าวทางจดหมายถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น
ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่กลุ่มตาลิบันเคยเป็นรัฐบาลเมื่อปีค.ศ. 1996-2001 ยูเอ็นอนุญาตให้ผู้แทนจากรัฐบาลอัฟกันที่ถูกกลุ่มตาลิบันโค่นอำนาจ ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนในยูเอ็นต่อไปได้