Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า พวกเขาได้พัฒนาวัสดุที่คล้ายกับผิวหนังซึ่งมีลักษณะเหมือนผิวหนังของกิ้งก่า สามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้
ทีมวิจัยนี้นำโดย โก เซือง-ฮวาน (Ko Seung-hwan) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัย Seoul National University ซึ่งได้สร้างผิวหนังด้วยของเหลวชนิดพิเศษที่จะเปลี่ยนสีในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ควบคุมโดยตัวทำความร้อนแบบยืดหยุ่นที่ทำจากสายไฟขนาดเล็กมาก
ศาสตราจารย์โก กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การสวมเสื้อผ้าลายพรางอยู่ในทะเลทรายจะทำให้ถูกมองเห็นได้ง่าย ดังนั้นการเปลี่ยนสีและลวดลายให้เข้ากับสิ่งที่อยู่รอบตัวตลอดเวลาคือหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีนี้
เทคโนโลยีนี้ใช้สิ่งที่เรียกว่า "ผลึกเหลวเทอร์โมโครมิก" และเครื่องทำความร้อนด้วยลวดนาโนสีเงิน เทอร์โมโครมิก หมายถึง การเปลี่ยนเฉดสีไปมาด้วยความร้อน ส่วนเส้นลวดนาโนนั้นก็เหมือนกับเส้นลวดทั่วไป แต่มีขนาดเล็กมาก ๆ
ศาสตราจารย์โกและทีมงาน สาธิตเทคโนโลยีนี้โดยใช้หุ่นยนต์รูปกิ้งก่าที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสี โดยผิวหนังของมันพยายามเลียนแบบสีใด ๆ ก็ตามที่เซ็นเซอร์เห็นอยู่รอบๆ ตัว
ในวิดีโอประกอบการสาธิต หุ่นยนต์กิ้งก่าเดินอยู่บนพื้นสีแดง น้ำเงิน และเขียว และมันเปลี่ยนสีให้ดูเหมือนสภาพแวดล้อมเหล่านั้นในทันที
ศาสตราจารย์โก อธิบายให้รอยเตอร์ฟังถึงวิธีการทำงานของวัสดุดังกล่าว โดยบอกว่าเมื่อเซ็นเซอร์พบข้อมูลสี ก็จะย้ายข้อมูลนั้นไปยังโปรเซสเซอร์ขนาดเล็กมาก จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปที่เครื่องทำความร้อนเส้นลวดนาโนสีเงิน เมื่อเครื่องทำความร้อนถึงอุณหภูมิที่กำหนด ผลึกเหลวเทอร์โมโครมิกก็จะเปลี่ยนสี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผิวหนังจะมีหลายชั้น แต่ก็มีความหนารวมกันไม่ถึง 100 ไมโครเมตร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ การเพิ่มชั้นลวดนาโนสีเงินในรูปทรงที่เรียบง่าย เช่น เส้นหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผิวหนังจะสามารถสร้างการออกแบบที่ซับซ้อนได้
ศาสตราจารย์โก กล่าวอีกว่า ผิวหนังที่มีความยืดหยุ่นสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์สวมใส่และใช้สำหรับแฟชั่นได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในเสื้อผ้าทหารและในการออกแบบที่ด้านนอกของตัวรถยนต์และตัวอาคารอีกด้วย
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications ฉบับเดือนสิงหาคม
- ที่มา: Reuters