กลุ่ม ‘เจน วาย-เจน ซี’ อาจออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์

A young voter casts her ballot on Election Day in Atlanta, Georgia, Nov. 3, 2020.

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า กลุ่มคนรุ่นเจเนอเรชั่น วาย หรือคนกลุ่มอายุ 25-35 ปีที่เกิดช่วงปีค.ศ. 1985-1995 และกลุ่มคนรุ่นเจเนอเรชั่น ซี หรือกลุ่มคนอายุ 18-23 ปีที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นไป อาจออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันอังคารนี้มากเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นกระแสต่อเนื่องมานับตั้งแต่การเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อสองปีที่แล้ว

จอช คุทเนอร์ นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน และประธานกลุ่มริพับลิกันของมหาวิทยาลัย ระบุว่า นักศึกษาจำนวนมากกลับบ้านในช่วงนี้ ทำให้พวกเขาไปลงคะแนนเสียงกันง่ายขึ้น เขายังเห็นว่าการหาเสียงที่มุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำต่อสู้เพื่อคุณค่าและวิสัยทัศน์ ทำให้คนรุ่นใหม่ทั่วประเทศไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปีนี้กันมากขึ้น

แอบบี คีซา ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและการวิจัยการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพลเมือง หรือ CIRCLE มหาวิทยาลัยทัฟส์ ระบุว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18-29 ปี มีสัดส่วนราว 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 240 ล้านคนทั่วประเทศ

ผู้ลงคะแนนที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ คือกลุ่มประชากรที่เรียกว่า millennial หรือคนช่วงอายุระหว่าง 25 ถึง 35 ปีและกลุ่มคน Generation Z ซึ่งมีอายุระหว่าง 19 ถึง 23 ปีในขณะนี้

ศูนย์ CIRCLE ระบุว่า คนรุ่นใหม่กว่า 7 ล้านคนไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้าแล้ว และผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ในรัฐฟลอริดา รัฐนอร์ธแคโรไลนา รัฐมินนิโซตา รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐมิชิแกน มีจำนวนมากกว่าคะแนนส่วนต่างที่ผู้ชนะเมื่อปีค.ศ. 2016 หรือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับในแต่ละรัฐแล้วด้วยซ้ำ

Election 2020 Virginia


ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า กลุ่มคนเจน ซี ที่มีอายุ 19-23 ปี ราว 61 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าจะลงคะแนนเสียงให้พรรคเดโมแครต ในขณะที่ 22 เปอร์เซ็นต์จะลงคะแนนเสียงให้พรรคริพับลิกัน

ริชาร์ด ฟราย นักประชากรศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยพิว ระบุว่า กลุ่มคนเจน วาย ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในช่วงปีค.ศ. 2014-2018 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า โดยอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์

ศูนย์วิจัยพิวยังระบุด้วยว่า กลุ่มคนเจน ซี และกลุ่มคนเจน เอ็กซ์ หรือกลุ่มคนอายุ 40-55 ปีที่เกิดช่วงปีค.ศ. 1965-1980 เมื่อรวมกันแล้วไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากกว่ากลุ่มคนเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดช่วงปีค.ศ. 1946-1964 และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า ในช่วงการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา

ซามูเอล คอฟแมน นักเรียนชั้นมัธยมปลายในรัฐเท็กซัส กล่าวทางอีเมลว่า คนรุ่นใหม่ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นฐานเสียงรุ่นใหม่ของทั้งสองพรรคใหญ่ เขายังเห็นด้วยว่า คนรุ่นใหม่อดทนและยอมรับสิทธิพลเมืองได้มากกว่าคนรุ่นก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ในอนาคต

ผู้อำนวยการศูนย์ CIRCLE ตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่เชื่อในพลังของตัวเองในการเลือกตั้งปีนี้มากขึ้น โดยคนรุ่นใหม่เกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากการเลือกตั้งส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเขา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19

เบน เคลลี ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่จากรัฐอิลลินอยส์ ระบุว่า สื่อสังคมออนไลน์กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากขึ้น เขาเห็นว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอเพื่อสื่อสารความคิดและการเสนอนโยบาย

A voter completes his ballot at a poling place inside Bankers Life Fieldhouse on Election Day in Indianapolis, Indiana, Nov. 3, 2020.


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์มีผู้ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ 87.4 ล้านคน และทวีตข้อความกว่า 58,100 ครั้ง ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีผู้ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ 124.6 ล้านคนและทวีคข้อความกว่า 16,000 ครั้ง

ทางด้านจอร์แดน ฮาร์ซินสกี นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน ดูแลบัญชีอินสตาแกรมชื่อ “youngvoters4joe” เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ลงคะแนนให้โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต โดยมีผู้ติดตามกว่า 1,100 บัญชี โดยฮาร์ซินสกีกล่าวว่า ผู้คนมักแบ่งปันเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์แต่ไม่ลงมือทำจริง และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้