ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ไม่ปลื้มแผนฟื้นสัมพันธ์ญี่ปุ่น

South Korean President Yoon Suk Yeol, left, speaks as Japanese Prime Minister Fumio Kishida, right, listens to him during a joint news conference at the prime minister's official residence in Tokyo, Japan, March 16, 2023.

พรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้โจมตีประธานาธิบดียูน ซุก ยอล ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดของผู้นำเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นการเปิดบทใหม่ของความสัมพันธ์สองประเทศที่หมางเมินกันมาร่วม 12 ปี

ปธน.ยูน ถือเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกในรอบ 12 ปีที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฟูมิโอะ คิชิดะ ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทั้งสองเห็นชอบที่จะรื้อฟื้นการเยือนอีกฝ่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และผ่อนคลายความตึงเครียดด้านการค้า เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง บนภัยคุกคามที่มีร่วมกันทั้งจากฝั่งเกาหลีเหนือและจีน

แต่การประชุมสุดยอดของสองผู้นำนี้ กลับไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายค้านเกาหลีมากพอ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ออกโรงต่อต้านการฟื้นสัมพันธ์ที่มองข้ามความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกับญี่ปุ่น

ลี แจ-มย็อง หัวหน้าพรรค Democratic Party กล่าวว่า “การประชุมสุดยอดเกาหลี-ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าอับอายและเป็นหายนะของประวัติศาสตร์การทูตเกาหลีใต้” และว่า “เหมือนกับว่าเรากำลังส่งบรรณาการให้กับญี่ปุ่น อ้อนวอนเพื่อให้กลับมาปรองดองและต้องยอมจำนน”

กระแสโจมตีจากฝ่ายค้านเกาหลีใต้เป็นสิ่งที่ได้รับการคาดหมายไว้อยู่แล้ว และสะท้อนถึงความท้าทายของปธน.ยูนในการเดินหน้าความพยายามฟื้นสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

South Korea Japan

ข้อพิพาทแรงงานบังคับ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ปธน.ยูน ได้เผยแผนคลี่คลายความบาดหมายระหว่างสองชาติ ในประเด็นแรงงานบังคับในช่วงสงคราม เมื่อปี 1910-1945 โดยภายใต้แผนของปธน.ยูน เกาหลีใต้ยกเลิกข้อเรียกร้องให้บริษัทญี่ปุ่นชดเชยเหยื่อแรงงานบังคับ และให้บริษัทเกาหลีใต้เสนอการชดเชยผ่านกองทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้แทน

ราว 60% ของชาวเกาหลีใต้คัดค้านแผนดังกล่าว อ้างอิงจากการสำรวจหลายแห่งในเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับนักการเมืองฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวต่างประท้วงแผนการของปธน.ยูน ที่หวนให้นึกย้อนไปถึงการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นที่กรุงโซลเมื่อปี 2019 ที่ประเด็นข้อพิพาทเรื่องแรงงานบังคับเป็นประเด็นร้อนในตอนนั้น

South Korean President Yoon Suk Yeol and his wife, Kim Keon Hee, arrive at Haneda International Airport in Tokyo, March 16, 2023.

การดีดลูกคิดของปธน.ยูน

ยังไม่มีความชัดเจนว่าการโจมตีต่าง ๆ จะมีผลต่อปธน.ยูน ที่คะแนนนิยมตกต่ำที่ 33% อยู่แล้ว อ้างอิงจากการสำรวจของ Gallup Korea ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันศุกร์

ปธน.ยูนยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ในวาระดำรงตำแหน่งปธน. 5 ปี เฉกเช่นผู้นำเกาหลีใต้คนอื่น ๆ เขาจะไม่สามารถลงชิงชัยในสมัยที่ 2 ได้

เมสัน ริชีย์ อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจาก Hankuk University ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ปธน.ยูนกำลังเดิมพันว่าแรงกดดันทางการเมืองที่เกี่ยวกับแรงงานบังคับจะลดทอนลงไปในช่วงที่พรรคของเขาเฟ้นหาผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบสีน้ำเงินในการเลือกตั้งปี 2027 “นั่นคือการเดิมพันของ (ปธน.) ยูน – ผมคิดว่าเขาพร้อมจะรับแรงปะทะไปในตอนนี้”

South Korea Japan

รากฐานที่สั่นคลอน

คำถามคือพรรคฝ่ายค้าน Democratic Party ของเกาหลีใต้จะยุติการโจมตีปธน.ยูนในท้ายที่สุดหรือไม่ และประธานาธิบดีแนวคิดเสรีนิยมคนต่อไปจะเข้ามาแก้ไขแผนการเรื่องแรงงานบังคับหรือไม่

จากประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของปธน.ยูนนั้นมีรากฐานที่สั่นคลอนอย่างมาก

เมื่อปี 2015 ในยุคอดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน ฮเย ได้บรรลุข้อตกลงว่าญี่ปุ่นจะให้การชดเชยผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี ก่อนที่ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมจะเข้ามายกเลิกแผนการดังกล่าว

หากปธน.ยูน ไม่สามารถโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเห็นประโยชน์จากแผนดังกล่าวของเขาได้ ก็จะทำให้มาตรการนี้เจอกับชะตากรรมเดียวกัน ในทัศนะของโรเบิร์ต เคลลี อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Pusan National University ที่ว่า “นี่คือหินก้อนใหญ่ที่ (ปธน.) ยูน ต้องเข็นขึ้นภูเขา” และว่า “และ (นายกฯ) คิชิดะ ต้องให้ความช่วยเหลือเขา หรือจะปล่อยให้แผนการนี้ไม่ได้ผลไปเลย”

U.S. President Joe Biden, U.S. Secretary of State Antony Blinken, U.S. Defense Secretary Lloyd Austin, South Korea's President Yoon Suk-yeol and Japanese Prime Minister Fumio Kishida meet during a NATO summit in Madrid, Spain, June 29, 2022. REUTERS/Jonathan Ernst

ประเด็นทางประวัติศาสตร์

จนถึงขณะนี้ มีสัญญาณไม่มากว่าญี่ปุ่นจะเห็นชอบกับข้อเรียกร้องจากฝั่งเสรีนิยมเกาหลีใต้ อย่างเช่น การให้ออกมาขอโทษต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนในช่วงสงครามหรือการให้การชดเชยโดยตรงกับเหยื่อแรงงานบังคับ

ในการประชุมสุดยอดเมื่อวันพฤหัสบดี นายกรัฐมนตรีคิชิดะไม่ได้กล่าวแสดงความขอโทษครั้งใหม่ แต่ให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลญี่ปุ่น “ยึดมั่นแนวคิดด้านประวัติศาสตร์ทั้งหมดจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ ” รวมถึงหลักปฏิญญาร่วมญี่ปุ่น-เกาหลีเมื่อปี 1998 ที่มีคำขอโทษอยู่ในนั้น

และระหว่างการขึ้นแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำญี่ปุ่น ปธน.ยูน ไม่ได้มีแผนจะขอการชดเชยจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด

ญี่ปุ่นยืนกรานว่าประเด็นแรงงานบังคับและการชดเชยอื่น ๆ ได้รับการจัดการไปแล้วในสนธิสัญญาเมื่อปี 1965 ว่าด้วยการจัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว เกาหลีใต้ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ และเงินกู้อีก 500 ล้านดอลลาร์จากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แรงงานบังคับชาวเกาหลีใต้ เริ่มออกมาเรียกร้องค่าชดเชย ในช่วงเริ่มต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และศาลเกาหลีใต้มีคำตัดสินที่สนับสนุนเหยื่อแรงงานบังคับด้วยเช่นกัน

ความท้าทายร่วมกัน

สำหรับชาวเกาหลีใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยม มีประเด็นใหญ่ที่เสี่ยงสูงสำหรับประเทศ เช่น การรับมือกับภัยคุกคามจากการขยายโครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างรวดเร็ว และประเด็นเรื่องห่วงโซ่อุปทาน

ในทัศนะของ ชเว อึน มี นักวิจัยจาก Asan Institute กล่าวว่าแผนการของปธน.ยูน ไม่ได้มีเป้าหมายในการหาทางออกที่ครอบคลุมในเรื่องแรงงานบังคับ แต่ถือเป็นก้าวที่สำคัญ “ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ .. ผมหวังว่าเป็นไปได้ แต่มันคงไม่ง่ายเช่นนั้น”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชื่นชมแผนการของปธน.ยูนว่า “เป็นบทใหม่ของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ การยกระดับความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐฯ ที่มองหาความร่วมมือไตรภาคีที่ยิ่งใหญ่เพื่อรับมือภัยคุกคามต่าง ๆ ในภูมิภาค

韩国总统尹锡悦(左)与日本首相岸田文雄在东京银座一家餐馆一起进餐。(2023年3月16日)

‘ข้าวห่อไข่' เจอดราม่าในเวทีกระชับสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

เกือบจะทุกประเด็นที่เกี่ยวกับเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสัญญาณความสัมพันธ์ทวิภาคี ไม่เว้นแม้กระทั่งเมนูดังของญี่ปุ่นอย่าง “ข้าวห่อไข่” หรือ omurice

เมนูนี้เป็นการผนวกชื่อของไข่เจียว (omelette) เข้ากับข้าว (rice) และกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในรายงานของสื่อ Fuji TV เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่ปธน.ยูนย่องเยือนร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตก Rengatei ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าร้านนี้เป็นผู้คิดค้นเมนูข้าวห่อไข่นี้หรือไม่

ในรายงานดังกล่าว ระบุว่า ปธน.ยูน ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นนักชิมและยังเป็นพ่อครัวตัวยง มีความทรงจำ “ที่ไม่รู้ลืม” เกี่ยวกับข้าวห่อไข่ที่เขาได้ลิ้มรสเมื่อวัยเด็ก ที่ร้านเก่าแก่กว่า 128 ปี ในย่านกินซ่าแห่งนี้ เขาได้มาเยือนกรุงโตเกียวบ่อยครั้งเมื่อปี 1966 ในช่วงที่พ่อของเขา ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ใช้เวลา 2-3 ปีที่นั่น อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์กับสื่อ Yomiuri daily

ทั้งทางการญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะยืนยันถึงแผนการเยือนและสถานที่ ขณะที่ร้าน Rengatei โด่งดังในฐานะต้นกำเนิดของข้าวห่อไข่ เมื่อปี 1900 ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กับรอยเตอร์

South Korea's President Yoon poses for a photograph with Japan's PM Kishida in Tokyo

แม้ว่าชาวต่างชาติจะคุ้นเคยกับซูชิหรือเทมปุระมากกว่า แต่ตำรับ “โยโชคุ” หรืออาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตก อย่างเช่น ข้าวห่อไข่ และทงคัตสึ หรือ หมูชุบเกล็ดขนมปังทอด เป็นอาหารที่คุ้นเคยบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่นอย่างมากเช่นกัน

โยโชคุ คือ ประเภทอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว และบางเมนูเดินทางข้ามพรมแดนไปถึงเกาหลีใต้ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จากการเดินทางระหว่างกัน ตามการเปิดเผยของโมโตะ คาวาบาตะ อาจารย์จาก Kwansei Gakuin University ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ระดับโลกของร้านอาหารญี่ปุ่น

คาวาบาตะ กล่าวว่า นายกฯ คิชิดะ และปธน.ยูน ได้ร่วมโต๊ะอาหารกันมากกว่าทานสุกี้มื้อเย็น แต่จุดละลายพฤติกรรมของทั้งสองผู้นำ คือ การนั่งร่วมโต๊ะทานข้าวห่อไข่ ที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์สองประเทศที่เย็นชาถึง 12 ปี “เมนูนี้อาจเป็นความพยายามในการสร้างความรู้สึกที่เป็นกันเอง ผ่านเมนูง่าย ๆ ที่ทั้งชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เห็นว่าเป็นเมนู comfort food หรืออาหารเยียวยาจิตใจ”

People form a line as they try to have lunch at Rengatei restaurant in Tokyo

สำหรับราคาข้าวห่อไข่ของร้าน Rengatei อยู่ที่ 2,600 เยน หรือประมาณเกือบ 20 ดอลลาร์

ส่วนข้าวห่อไข่ของเกาหลีใต้ จะมีแผ่นไข่ที่บางและมีหลายชั้นกว่า ขณะที่ข้าวห่อไข่ของญี่ปุ่นจะเป็นไข่ฟูนุ่ม เยิ้มๆ และทำเป็นรูปทรงอัลมอนด์ที่ห่อข้าวผัดซอสมะเขือเทศเอาไว้ ซึ่งข้าวห่อไข่ในปัจจุบันของญี่ปุ่นเริ่มมาจากภาพยนตร์ของจูโซ อิตามิ เรื่อง Tampopo เมื่อปี 1985

  • ที่มา: วีโอเอและรอยเตอร์