งานแสดงภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่กรุงวอชิงตันเนื่องในวันน้ำโลก ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้จักแบ่งปันการใช้น้ำ

  • Rosanne Skirble
    Nittaya Maphungphong

งานแสดงภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่กรุงวอชิงตันเนื่องในวันน้ำโลก ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้จักแบ่งปันการใช้น้ำ

ผู้ประสานงานแสดงภาพยนตร์ของ Pulitzer Center on Crisis Reporting บอกว่า ความมุ่งหมายของการฉายภาพยนตร์เหล่านี้ ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาเรื่องน้ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า นอกจากจะแสดงให้เห็นการต่อสู้ของมนุษย์แล้ว ยังบ่งชี้ไว้ด้วยว่า จะต้องมีการศึกษา ความเข้าใจ การอนุรักษ์ และการส่งเสริมให้ตระหนักกันให้มากขึ้นว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่จะต้องแบ่งปันกัน

นาย Peter Sawyer ผู้ประสานงานแสดงภาพยนตร์ของ Pulitzer Center on Crisis Reporting บอกว่า ความมุ่งหมายของการฉายภาพยนตร์เหล่านี้ ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาเรื่องน้ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ

ในภาพยนตร์เรื่อง “Dhaka’s Challenge” นาย Sttephen Sapienza ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้าง กล่าวว่า หนึ่งในสามของประชากร 15 ล้านคนในกรุง Dhaka นครหลวงของบังคลาเทศ อยู่ในสลัม ซึ่งมีน้ำและการสุขาภิบาลจำกัดมาก

ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้บอกว่า ไม่ว่าจะนั่งรถไปที่ไหนในกรุง Dhaka จะเห็นคนเข้าคิวยาวรอใช้ห้องน้ำสาธารณะ หรือไม่ก็จะเห็นห้องน้ำสร้างไว้เหนือแม่น้ำลำธาร ซึ่งปล่อยสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำลำธารเหล่านั้นโดยตรง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นความพยายามของกลุ่ม NGO ที่รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนกฎหมาย เปิดโอกาสให้คนยากจนตามเมืองใหญ่ มีสิทธิ์ได้ใช้น้ำประปาได้ด้วย

ภาพยนตร์เรื่องที่สองที่ศูนย์ Pulitzer นำมาฉายให้ดูกัน เป็นเรื่องการขาดแคลนน้ำในแม่น้ำสินธุในประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาด ในเมื่อปากีสถานมีแม่น้ำหลายสาย ที่ได้รับน้ำโดยตรงจากเทือกเขาหิมาลัย แต่มีปัญหาเพราะระบบการแจกจ่ายน้ำไม่ดี และยังมีปัญหาแทรกซ้อนจากความขัดแย้งกับอินเดีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านด้วย

องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนราวๆ 33% ในทุกทวีป ประสบภาวะการขาดแคลนน้ำ และชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆทะเลสาป Dongting Hu กำลังประสบปัญหาที่ว่านี้ด้วยตนเอง ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ทะเลสาปน้ำจืดแห่งนี้ หดตัวเล็กลงตลอดมา ในขณะที่มีผู้คนเข้าไปตั้งรกรากเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

เรื่องนี้เป็นประเด็นของภาพยนตร์เรื่องที่สามที่ศูนย์ Pulitzer นำมาฉาย

และในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ซึ่งมีรัฐ Georgia, Alabama และ Florida อยู่ติดกันนั้น คนในสามรัฐนี้มีความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำจากแม่น้ำ Chattahoochee ที่ไหลผ่านรัฐทั้งสามมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

นาย Jonathan Wickham ผู้สร้างภาพยนตร์ “From Water War to Water Vision” ซึ่งบรรยายความขัดแย้งที่ว่านี้ บอกว่า ถ้าท่านอยู่เหนือน้ำ ท่านจะต้องใช้น้ำอย่างมีเหตุผล เพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำต้องเดือดร้อน และว่า ข้อคิดนี้ ควรเป็นวิธีคิดใหม่ให้กับคนที่อยู่ตามตัวเมือง การเกษตรและธุรกิจเกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพยากร

นางสาว Katherine Bliss ผู้อำนวยการโครงการน้ำของศูนย์การศึกษาทางยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน บอกว่า ภาพยนตร์ที่ศูนย์ Pulitzer นำมาฉาย นอกจากจะแสดงให้เห็นการต่อสู้ของมนุษย์แล้ว ยังบ่งชี้ไว้ด้วยว่า จะต้องมีการศึกษา ความเข้าใจ การอนุรักษ์ และการส่งเสริมให้ตระหนักกันให้มากขึ้นว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่จะต้องแบ่งปันกัน