Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วงระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤษภาคมนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ร่วมกับกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของฟินแลนด์ จัดการประชุมเนื่องในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่กรุงเฮลซิงกิ นครหลวงของฟินแลนด์
แต่การประชุมครั้งนี้ไม่มีนักข่าว Khadija Ismayilova ไปรับรางวัล UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom ตามกำหนด เพราะเธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปีครึ่ง อยู่ที่ Azerbaijan เพราะการรายงานข่าวการคอรัปชั่นของรัฐบาล
และก็ไม่มีนักข่าวชาวไทย นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ไปร่วมงานตามที่ผู้จัดเชื้อเชิญไว้ด้วย เพราะทางการทหารผู้ปกครองประเทศไม่อนุญาตให้เขาเดินทาง
นักข่าวไทยผู้นี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว VOA ว่า เขาสังหรณ์ใจว่านักข่าวไทยส่วนมากไม่อยากเสี่ยง จึงเซ็นเซอร์ตนเองถ้าจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับระบอบปกครองทหาร และกว่าจะรู้ตัวว่าได้ข้ามเส้น ก็เมื่อถูกทางการทหารควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา
อย่างไรก็ตามนักข่าวผู้นี้บอกกับ VOA ด้วยว่า รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็กดดันสื่อในประเทศโดยการใช้อำนาจเชิงพาณิชย์
พร้อมกันนี้ องค์กร Freedom House ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเผยแพร่เสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก ได้เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยอิสรภาพของสื่อออกมาด้วย โดยได้ประเมินเสรีภาพของสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ การกระจายเสียงและสื่อดิจิตัล ตามประเทศและเขตการปกครองต่างๆ รวมทั้งหมด 199 แห่งทั่วโลก
รายงานประจำปีของ Freedom House สรุปผลการสำรวจเสรีภาพของสื่อทั่วโลกว่า ในปี ค.ศ. 2015 เสรีภาพสื่อลดลงต่ำสุดในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นผลมาจากพลังกดดันทางการเมือง อาชญากรรม และการก่อการร้าย ที่ต้องการจะปิดปากสื่อ
รายงานของ Freedom House ยังกล่าวไว้ด้วยว่าการสูญเสียเสรีภาพของสื่อ เชื่อมโยงกับการแบ่งพรรคพวกที่เข้มข้นขึ้นในหลายๆประเทศ รวมทั้งการเพิ่มระดับการข่มขู่และการทำร้ายร่างกายนักข่าวด้วย
รายงานฉบับนี้ระบุว่า มีประชากรโลกเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่เข้าถึงสื่อที่มีเสรีภาพ ในขณะที่ร้อยละ 41 มีสื่อที่มีเสรีภาพบางส่วน และมากถึงร้อยละ 46 ที่มีสื่อที่ไม่มีเสรีภาพ ส่วนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตสำหรับปีที่แล้ว รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ห้า
รายงานขององค์กร Freedom House กล่าวไว้ด้วยว่า ประเทศที่ลดสิทธิเสรีภาพของสื่อมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา คือ บังคลาเทศ ตุรกี บุรุนดี ฝรั่งเศส เซอร์เบีย เยเมน อียิปต์ มาซีโดเนีย และซิมบับเว แต่ที่ผ่อนคลายการควบคุมลง คือ ศรีลังกา และ เบอร์กิน่า ฟาโซ
ขณะเดียวกัน Reporters without Border ซึ่งจัดทำดัชนีสิทธิเสรีภาพสื่อออกมาทุกปี ลดตำแหน่งประเทศไทยลงสองตำแหน่ง คือจาก 134 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 136 ในปีนี้
โดยมีประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จับกลุ่มอยู่ใกล้เคียง คือกัมพูชาที่ 128 อินโดนีเซียที่ 130 ฟิลิปปินส์ที่ 138 และพม่าซึ่งเพิ่งจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาใหม่ ติดในอันดับที่ 143 มาเลเซียที่ 146 ส่วนลาวและเวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ 173 และ 175 ตามลำดับ
ประเทศที่ติดอันดับหนึ่ง คือฟินแลนด์ โดยมีเนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน เรียงตามมาในอันดับที่ 2, 3, 4 และที่ 5 คือนิวซีแลนด์ ที่รั้งท้ายคือเกาหลีเหนือ และเอริเทรีย ในอันดับที่ 179 และ 180 ส่วนสหรัฐถูกจัดไว้ในอันดับที่ 41