วารสารวิทยาศาสตร์ เดอะ ลานเซท (The Lancet) เผยแพร่รายงานชิ้นใหม่ที่คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกในอีก 80 ปีอาจลดลง และจำนวนประชากรของไทยอาจลดลงราวครึ่งหนึ่งจากจำนวนเมื่อปี พ.ศ. 2560
รายงานฉบับดังกล่าวคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกอาจเพิ่มสูงสุดจากจำนวน 7,800 ล้านคนในปัจจุบัน ไปถึงราว 9,700 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2607 ก่อนจะลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี พ.ศ. 2643 หรือสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งสวนทางกับคาดการณ์ของแผนกประชากรของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าจำนวนประชากรในอีก 80 ปี จะอยู่ที่ 10,900 ล้านคนและจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ทางสหประชาชาติจะเห็นว่ารายงานชิ้นนี้ “สุดโต่ง” เกินไป แต่คริส เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ร่วมทำการศึกษารายงานนี้ กลับระบุว่า รายงานนี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยประชากรที่ลดลงอาจทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะอื่นๆ ลดลง มีความต้องการอาหารลดลง มีการลดกิจกรรมทางการเกษตร และอาจส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรที่ลดลงก็แปลว่า จะมีคนทำงานน้อยลง ตัวเลขจีดีพีที่ลดลง และจำนวนผู้บริโภคที่ลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้บริโภคถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ
เจินเชา เฉียน อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบราวน์ ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับรายงานฉบับดังกล่าว ให้ความเห็นว่า จำนวนคนทำงานที่ลดลงต้องทำงานเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามตามมาถึงการออกแบบระบบสุขภาพและประกันสังคม เมอร์เรย์ยังเห็นว่า ประชากรที่ลดลงยังหมายถึงจำนวนทหารของแต่ละประเทศที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองได้อีกด้วย
ในขณะที่สหประชาชาติคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของสตรี 1 คนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 ซึ่งสูงกว่าอัตราปัจจุบันของประเทศที่มีรายได้สูงที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาและการคุมกำเนิดได้ รายงานของเมอร์เรย์กลับเห็นว่าในอีก 80 ปี อัตราการให้กำเนิดบุตรของเกือบทุกประเทศในโลก ยกเว้นแถบภูมิภาคทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา จะอยู่ในระดับต่ำ
รายงานคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรใน 23 ประเทศ เช่น ไทย ญี่ปุ่น และสเปน จะลดลงครึ่งหนึ่งจากจำนวนประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2560 ขณะที่อีก 34 ประเทศจะมีจำนวนประชากรลดลงตั้งแต่หนึ่งในสี่ ไปจนถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนจีนคาดว่าจะมีประชากรลดลง 48%
เมอร์เรย์ยังให้คำแนะนำถึงประเทศต่าง ๆ ต่อการรับมือความเป็นไปได้ที่ประชากรจะลดลง โดยควรสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถทำงานและเลี้ยงดูลูกไปพร้อม ๆ กันได้ เพื่อจูงใจให้ผู้หญิงมีบุตรมากขึ้น และเปิดพรมแดนรับผู้อพยพมากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งซึ่งเขาเห็นว่ามีความเสี่ยงและไม่น่าปฏิบัติตามมากที่สุด คือ การจำกัดสิทธิด้านสาธารณสุขว่าด้วยการมีบุตรของผู้หญิงในประเทศต่าง ๆ เพื่อกดดันให้พวกเธอมีบุตรมากขึ้น ภายใต้นโยบาย "มีลูกเพื่อชาติ"
อย่างไรก็ตาม จอห์น วิลม็อธ หัวหน้าแผนกประชากรของสหประชาชาติ เห็นว่า ผลการคาดการณ์ทั้งของสหประชาชาติและของเมอร์เรย์ ยังเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น โดยอาจต้องมีการสังเกตการณ์ต่อไปอีก 10-20 ปี ถึงจะให้ผลการคาดการณ์ที่แม่นยำขึ้้นกว่านี้ได้