'รายงานหายนะภัยโลก' ระบุเกิดภัยธรรมชาติกว่า 7,000 ครั้งในช่วง 20 ปี ทำให้คนเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน

  • Lisa Schlein

Homes destroyed by Hurricane Matthew stand in Moron, Haiti, Oct. 10, 2016.

การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติช่วยป้องกันการสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน

Your browser doesn’t support HTML5

World Disaster Report

คนเราไม่มีทางหยุดยั้งภัยธรรมชาติไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีหลายวิธีด้วยกันที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ภัยธรรมชาติส่งผลกระทบทางชีวิตและทรัพย์สินรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ

ทีมผู้เขียนรายงาน World Disasters Report ปีนี้ย้ำว่า เหตุการณ์ภัยธรรมชาติหลายเหตุการณ์ อาทิ พายุเฮอร์ริเคน น้ำท่วม และฝนเเล้ง ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกและสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า

ดังนั้นรัฐบาลประเทศต่างๆ มีโอกาสลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นลงได้ ด้วยการลงทุนในการเตรียมความพร้อมและมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์วิกฤติ

Elhadj As Sy เลขาธิการสมาพันธ์กาชาดสากล และสมาคมเสี้ยววงเดือนแดง หรือ IFRC (the International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) กล่าวว่า การเน้นมาตราการเตือนภัยล่วงหน้า และการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดตามมาได้

FILE - Undamaged homes are seen on a hillside in the foreground as a tsunami damaged area is seen behind in the town of Ofunato, in northeast Japan, Monday, Sept. 5, 2011.



Elhadj As Sy กล่าวว่า สมควรมากที่ต้องลงทุนด้านการเตรียมตัวให้พร้อม เช่นเดียวกับการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากความเสียหาย เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเเล้ว ยังถือเป็นการลงทุนที่ฉลาดหากมองในเชิงเศรษฐกิจ

และที่สำคัญกว่านั้น การลงทุนในการเตรียมตัวรับมือจะช่วยรักษาชีวิตคน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

เมื่อปีที่แล้ว รายงานชี้ว่ามีคน 108 ล้านคนได้รับผลกระทบจากมหันตภัย และย้ำว่าจำนวนครั้งและระดับความรุนแรงของวิกฤติที่เกิดจากภัยธรรมชาติต่างๆ กำลังเพิ่มสูงขึ้น

David Sanderson บรรณาธิการร่วมกล่าวว่า เมื่อพูดถึงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ควรปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติจากที่เคยทำมา เขากล่าวว่าในระหว่างปี ค.ศ. 1991-2010 ทั่วโลกใช้เงินในวิกฤติจากภัยธรรมชาติไปถึง 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดย 2 ใน 3 ของเงินจำนวนนี้ใช้ไปกับการตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยธรรมชาติ

และมีการลงทุนกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติแค่ 40 เซ็นต์ต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่านั้น เทียบได้กับหยดน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทร

ในขณะเดียวกัน รายงานชิ้นใหม่อีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากมหันตภัยธรรมชาตินาน 20 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1996 - 2015 ("Poverty & Death: Disaster Mortality 1996-2015) ชี้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำเเละปานกลาง

รายงานนี้พบว่าเกิดเหตุภัยธรรมชาติขึ้นกว่า 7,000 เหตุการณ์ในช่วง 20 ปี และทำให้คนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน

Houses destroyed by Hurricane Matthew in Coteaux, Haiti, Oct. 10, 2016.

และจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าเหตุเเผ่นดินไหวกับคลื่นทะเลยักษ์สึนามิ เป็นต้นเหตุอันดับหนึ่ง ตามมาติดๆ โดยภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา วิกฤติที่เกิดจากภัยเเล้ง ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน เหตุน้ำท่วมและพายุ ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

Robert Glasser ผู้เเทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ กล่าวว่า มีความเกี่ยวข้องชัดเจนระหว่างการเสียชีวิตเหล่านี้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก และกับระดับรายได้เเละการพัฒนา

เขากล่าวว่าประเทศรายได้น้อยและด้อยพัฒนา ซึ่งมีส่วนร่วมสร้างภาวะโลกร้อนน้อยกว่าประเทศร่ำรวย แต่กลับได้รับผลกระทบมากที่สุดในเชิงของจำนวนคนเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

ประเทศเฮติเป็นตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้ Glasser เน้นว่าเฮติประสบเหตุเเผ่นดินไหวรุนแรงในปี ค.ศ. 2010 และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังถูกพายุเฮอร์ริเคนเเมทธิวถล่มอีกด้วย ประเทศนี้สูญเสียชีวิตคนไปกับภัยธรรมชาติมากกว่าประเทศอื่นๆ และติดอันดับที่หนึ่งในบรรดา 10 ประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมากที่สุด ตามมาด้วยอินโดนีเซียและเมียนม่าร์

โดยไม่มีประเทศร่ำรวยเเม้ประเทศเดียวติดในสิบอันดับแรกของจำนวนผู้เสียชีวิตนี้

แต่รายงานนี้ชี้ว่าบรรดาประเทศร่ำรวยประสบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุดจากเหตุภัยธรรมชาติ คิดเป็นเงินถึง $400,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือมากกว่านั้นต่อปี

เลขาธิการสหประชาชาติ Ban Ki-moon เทียบรายงานชิ้นนี้ว่าเป็นเหมือนการฟ้องอย่างชัดเจน ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมเ พราะในขณะที่ชาติร่ำรวยสูญเสียในรูปตัวเงินแต่คนในประเทศยากจนต้องสูญเสียชีวิต

(รายงานโดย Lisa Schlein / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)