Your browser doesn’t support HTML5
แม้จะจบการศึกษาจากคณะมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ไม่นาน แต่ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ยังคงรู้สึกเหมือนกับการเดินทางอันแสนยาวนาน
“เฮ้อ .. ต้องถอนหายใจยาวๆหลายๆครั้ง .. ในช่วง 2 ปีแรก ผมได้ทุนจากองค์การอนามัยโลกที่คณะมานุษยวิทยาที่ Harvard .. สิ่งที่พบก็คือว่า เราเคยเป็นแถวหน้าเป็นเบอร์ 1 ในห้องเรียนเมืองไทย มาถึงมันเปลี่ยนไปอีกแบบนึง .. "
"จากเดิมเราคิดว่าคนที่เก่งคือคนที่มีความรู้กว้างขวางที่สุด แต่ปรากฏว่า ความรู้ที่รู้อยู่แล้ว .. เพียงไม่นานมันจะกลายเป็นความรู้ที่ล้าหลังไปแล้ว .. เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของการเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น คือ การตั้งคำถาม กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง กล้าวิพากษ์ว่าเราไม่เห็นด้วย แล้วค่อยๆเรียนรู้ ว่าสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย มันถูกหรือยังไม่สมบูรณ์ยังไง นั่นคือกระบวนการเรียนรู้ครับ”
แม้จะต้องถึงกับถอนหายใจกันหลายครั้งเมื่อต้องพูดถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยในฝันที่อยากจบการศึกษา แต่ที่ประทับใจมากที่สุดในรั้ว Harvard คือ ความใส่ใจของคณาจารย์ที่นั่น
“อาจารย์นี่มีความใส่ใจลูกศิษย์แต่ละคนในฐานะคนหนึ่งคนมากๆ มาตอนแรกๆยังเขียนภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ผมส่งเปเปอร์ไปให้อาจารย์ อาจารย์ท่านเป็นอาจารย์อาวุโสและมีลูกศิษย์มาก แต่สิ่งที่ท่านส่งกลับมา คือ ท่านอ่านทุกตัวอักษร และใช้ดินสอเติมให้ ว่าตัวนี้เติม s ตรงนี้ต้องแก้ tense เป็นแบบนี้ อันนี้คือความประทับใจว่าท่านมีความใส่ใจ”
ไม่เพียงแต่คุณหมอวิรุฬที่ต้องปรับตัว แต่ครอบครัวของคุณวิรุฬ คุณบุหงา ภรรยาและลูก ก็ต้องย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯด้วยเช่นกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตที่เหมือนรถไฟเหาะตีลังกา
“นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างเข้มข้น .. พอมาถึงเนี่ย 2-3 เดือนแรกอาการก็กำเริบขึ้นอีก ก็ต้องพาภรรยาตระเวนเข้าห้องฉุกเฉิน"
"ก็มีคุณหมอแนะนำว่าให้ทำเด็กหลอดแก้วอีกครั้ง ภรรยาผมก็กลับเมืองไทยไปทำเด็กหลอดแก้ว แต่คนที่ 3 มาเองเป็น surprise แต่มีปัญหาหรือรกต่ำต้องผ่าคลอดอย่างเดียว ทำให้เป็นห่วงมากทั้งแม่ทั้งลูก”
ไม่เพียงแต่การต่อสู้ของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น โรคร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับคุณหมอวิรุฬ ก็กลับมาเล่นงานในช่วงโค้งสุดท้ายของการศึกษาอีกเช่นกัน
“ปี 2556 ตอนนั้นผมสมัครเข้าหลักสูตรปริญญาเอก และได้ทุนปริญญาเอกแล้ว ตอนนั้นช่วงซัมเมอร์ ผมก็ปวดหัว ก็เลยไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลและพบว่าก้อนเนื้อมันงอกเพิ่มมากขึ้น และตัดสินว่าต้องผ่าตัดอีกครั้งนึง”
แม้จะเจออุปสรรคมากแค่ไหน แต่สิ่งคุณหมอก็จะลุกกลับขึ้นมาสู้อีกครั้ง ด้วยความคิดที่ว่า
“ผมยึดถือคำสอนของพระราชบิดา (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล) ที่ว่า True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind. ผมคิดว่ามันเป็นความตั้งใจที่จะกลับไปทำประโยชน์ในที่ที่จากมา ผมเลยคิดว่า .. ถ้าผมหยุดมันก็สูญเปล่า!"
"มีหลายครั้งที่รู้สึกว่าไม่ไหว มีหลายครั้งที่รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ภาพที่เราอยากเห็น คือ รอยยิ้มของผู้คน ทั้งคนไข้ ทั้งคนในวงการแพทย์ ให้ทุกคนมีความสุขขึ้นได้ .. ก็เป็นแรงผลักดันว่ายังไงก็ต้องจบให้ได้!”
อีกด้านหนึ่ง ในมุมมองของ Arthur Kleinman อาจารย์คณะมานุษยวิทยา จาก Harvard Medical School ชื่นชมผลงานและความตั้งใจของคุณหมอวิรุฬว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่เขาประทับใจในตัวคุณหมอวิรุฬ คือ แพทย์ไทยที่มีเลือดนักสู้และมีคุณธรรม ที่อยากจะสร้างมาตรฐานทางสาธารณสุขสำหรับผู้คนที่อยู่ชนบท บทบาทของเขาไม่เพียงแต่น่าประทับใจ แต่ยังต้องการความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความตั้งใจอันแรงกล้าของเขา
คุณหมอทิ้งท้ายในบทสัมภาษณ์กับ VOA ภาคภาษาไทยไว้อย่างน่าสนใจสำหรับผู้ที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง หรือเจอกับอุปสรรคมากมายในชีวิตด้วยว่า
“We have no choice but to be hopeful คือเราไม่มีทางเลือกนอกจากมีความหวังเท่านั้น ผมกลับไปด้วยความรู้สึกนี้
"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยังไงในตอนนี้ สิ่งเดียวที่เราต้องมีอยู่คือความหวัง ... แต่ความหวัง อย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องการคนที่กล้าออกมาทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าเราทำได้”
หลังจากนี้ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท จะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับครอบครัว