นักจิตวิทยาเตือน อาการเฉาช่วงหน้าหนาว - เสี่ยงซึมเศร้าตามฤดูกาล

ผู้คนเดินตามข้างทางระหว่างวันที่หิมะตกหนัก ในอิลลินอยส์ 10 ม.ค. 2025 (AP Photo/Nam Y. Huh)

เมื่อฤดูหนาวใกล้เข้ามา และปริมาณแสงแดดลดลง ผู้ที่มีแนวโน้มเป็น “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” (Seasonal Affective Disorder - SAD) มักจะเกิดผลกระทบทั้งทางร่างกาย สมองและจิตใจ โดยมีผู้คนจำนวนนับล้านที่ต้องเผชิญกับโรค SAD ในช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล

ผู้ป่วยโรค SAD มักเผชิญภาวะซึมเศร้าเป็นระยะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และจะดีขึ้นในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน แพทย์ระบุว่าโรคดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง นอกจากนี้ ยังมีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลที่เกิดในฤดูร้อน ซึ่งพบได้น้อยและไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ในปี 1984 ทีมวิจัยที่นำโดย ดร. นอร์แมน โรเซนธัล จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Institutes of Health – NIH) ได้อธิบายถึงโรค SAD เป็นครั้งแรก พร้อมกับบัญญัติตัวย่อที่จำง่ายนี้ขึ้นมา

ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่า เซลล์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในดวงตา ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแสงสีน้ำเงินในแถบสเปกตรัมให้เป็นสัญญาณประสาท จะส่งผลต่ออารมณ์และความตื่นตัวอย่างไร

แสงแดดในธรรมชาติจะอุดมไปด้วยแสงสีน้ำเงิน เมื่อเซลล์ดังกล่าวดูดซับแสง ก็จะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมความตื่นตัวในสมองของมนุษย์ ทำให้รู้สึกตื่นตัวและอาจส่งผลให้มีความสุขมากขึ้น

แคทริน รอคไคลน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ได้ทดสอบการตอบสนองต่อแสงสีน้ำเงินของกลุ่มผู้ที่มีและไม่มีอาการ SAD พบว่าโดยรวมผู้ที่มีอาการ SAD มีความไวในการตอบสนองแสงสีน้ำเงินที่น้อยกว่า โดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

รอคไคลน์ อธิบายว่า “ในฤดูหนาว มีปริมาณแสงที่ลดลง ประกอบกับความไวต่อแสง (ของเซลล์ในดวงตา) ที่ต่ำลง อาจทำให้ระดับแสงไม่เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายอย่างสมดุล จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้”

ดร. พอล เดซาน จากคลินิกวิจัยโรคซึมเศร้าฤดูหนาว มหาวิทยาลัยเยล ชี้ว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายรายตอบสนองต่อการบำบัดด้วยแสงเป็นอย่างดี เดซานกล่าวว่า “เมื่อผู้ป่วยได้รับแสงเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงในทุกเช้า ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา”

การบำบัดด้วยแสง จะใช้อุปกรณ์ให้ความสว่างมากกว่าแสงในอาคารทั่วไปถึง 20 เท่า ในงานวิจัยสนับสนุนให้ใช้แสงที่มีความสว่างประมาณ 10,000 ลักซ์ (Lux) เป็นเวลานาน 30 นาทีในทุกเช้า

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเยลระบุว่า การบำบัดด้วยแสงไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการสำหรับผู้ที่เป็นโรค SAD เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาวประเภทไม่รุนแรงอีกด้วย

แสงชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับการบำบัด มีราคาตั้งแต่ 70 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,500 บาท ไปจนถึง 400 ดอลลาร์ หรือราว 14,000 บาท

เดซานเตือนว่า สินค้าเพื่อการบำบัดในท้องตลาด อาจจะมีความสว่างไม่เพียงพอ จนไม่ส่งผลใด ๆ ต่อผู้ใช้งาน เขายังแนะนำเพิ่มว่า หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SAD ให้ตรวจสอบกับบริษัทประกันสุขภาพ เพราะอาจได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายสำหรับการบำบัดด้วยแสง

แนวทางเบื้องต้น การรักษาโรค SAD มักเริ่มด้วยยาต้านอาการซึมเศร้า พร้อมกับการบำบัดด้วยแสง แพทย์มักที่จะแนะนำผู้ป่วยให้เข้านอนให้เป็นเวลา และให้เลือกเดินกลางแจ้ง แม้ในวันที่ฟ้าครึ้มก็ตาม

เคลลี โรฮัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ กล่าวว่า จากการศึกษา การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy – CBT) ให้ผลลัพธ์ในการรักษาโรค SAD ที่ยั่งยืนมากกว่าการบำบัดด้วยแสง

ในกระบวนการ CBT จะมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและนักบำบัด เพื่อระบุและปรับเปลี่ยนความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์

ตัวอย่างเช่น ชุดความคิดที่พบได้บ่อยคือ “ฉันไม่ชอบฤดูหนาว” โรฮันแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนมุมมองแบบง่าย ๆ เป็น “ฉันชอบฤดูร้อนมากกว่าฤดูหนาว” เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยทำให้ความรู้สึกทางอารมณ์ที่มีต่อฤดูหนาว มีความเป็นกลางมากขึ้น

  • ที่มา: เอพี