นักวิจัยไขปริศนาว่าทำไมนิ้วมือนิ้วเท้าของเราจึงเหี่ยวย่นหลังแช่น้ำนานๆ

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Biology Journal Letters ชี้ว่า การแช่น้ำนานๆแล้วนิ้วมือเหี่ยวย่นนั้นเป็นวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อครั้งที่บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มหาอาหารในสภาพแวดล้อมที่เปียกหรือชื้นแฉะ เพื่อให้นิ้วมือที่มีรอยย่นนั้นสามารถหยิบจับอาหารหรือวัตถุอื่นๆที่มีผิวลื่นได้ง่ายขึ้น

นักวิจัยที่ Newcastle University ในอังกฤษทดลองสมมติฐานนี้ด้วยการให้อาสาสมัครราว 20 คน ใช้มือข้างหนึ่งหยิบลูกแก้วที่แช่น้ำ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งรับลูกแก้งนั้นไปใส่ไว้ในภาชนะอีกอันหนึ่ง ผลการทดลองพบว่าอาสาสมัครที่นิ้วมือมีรอยย่นสามารถทำภารกิจนี้ได้เร็วกว่า แต่เป็นเฉพาะกับวัตถุเปียกน้ำเท่านั้น ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่ารอยย่นบนนิ้วมือถูกวิวัฒนาการมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหยิบจับวัตถุที่อยู่ใต้น้ำหรือเปียกน้ำเท่านั้น คล้ายกับดอกยางของล้อรถยนต์

สิ่งที่นักวิจัยต้องศึกษาต่อไปก็คือ รอยย่นนั้นเกิดเพราะอะไรกันแน่ เป็นการขับน้ำส่วนหนึ่งออกจากร่างกาย หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิหนังเพื่อให้บางส่วนแข็งหรือหนาขึ้น และยังต้องศึกษาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างที่ผิวหนังย่นๆนั้นสัมผัสกับพื้นผิวเปียกๆของวัตถุ