Your browser doesn’t support HTML5
รายงานสำรวจของบริษัทประกันในอังกฤษที่ตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีก่อนระบุว่า คนเราโดยเฉลี่ยจะลืมนู่นลืมนี่ประมาณ 9 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า แต่ละวันต้องใช้เวลาประมาณ 15 นาทีโดยเฉลี่ย ในการค้นหาของที่หายไป โดยมีโทรศัพท์มือถือ กุญแจ และเอกสาร อยู่ในอันดับต้นๆ ของสิ่งของที่มนุษย์เรามักจะหลงลืมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบอกว่าอาการหลงๆ ลืมๆ นี้ ไม่ใช่อาการป่วยร้ายแรงหากมิได้ลุกลามไปจนกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์สหรือความจำเสื่อม และยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
สาเหตุของอาการหลงลืมนั้นมีหลายอย่าง ตั้งแต่พันธุกรรม ความเครียด ความเหนื่อยล้า การทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และยังอาจมีสาเหตุจากอาการป่วยอื่นๆ เช่นโรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ หรือโรคสมาธิสั้น ซึ่งศาสตราจารย์ Daniel L.Schacter แห่งภาควิชาจิตวิทยา ม. Harvard บอกว่าอาการหลงๆลืมๆนั้นน่าจะเกิดจากความผิดปกติทั้งในด้านการขาดความใส่ใจ และความจำ ยกตัวอย่างหากเราไม่ได้ใส่ใจแต่แรกว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหน เมื่อถึงเวลาจะใช้ เราก็อาจไม่สามารถเรียกคืนความทรงจำกลับมาได้ง่ายๆ ว่ากุญแจนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่
อีกอย่างหนึ่งคือในกรณีที่มีความแตกต่างทางจิตใจในช่วงเวลาที่วางสิ่งของนั้น กับช่วงเวลาที่ต้องการใช้ ก็อาจทำให้เกิดการหลงลืมได้ เช่น ขณะที่เดินเข้าบ้านแล้ววางกุญแจรถเราอาจรู้สึกหิว แต่เมื่อกลับไปหากุญแจเมื่ออิ่มแล้วก็อาจไม่เจอ เพราะความรู้สึกสองช่วงเวลานั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้ความทรงจำปรับเปลี่ยนไป
นักวิจัยหลายคนพยายามหาวิธีจัดการกับอาการหลงๆ ลืมๆ ให้ได้ ศาสตราจารย์ Kenneth Norman แห่ง ม. Princeton เชื่อว่าการใช้สิ่งกระตุ้นเตือนความทรงจำนั้นอาจจะช่วยได้ โดยสิ่งกระตุ้นอาจเป็นได้ืั้ทั้งกายภาพหรือจิตใจ เช่นย้อนกลับไปคิดว่าในช่วงเวลาที่เราวางกุญแจ เราหิวอยู่หรือไม่ เรารู้สึกอย่างไรหรือทำอะไรอยู่ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นพบสิ่งของนั้นได้ง่ายขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำว่าการวางสิ่งของที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยก็ช่วยได้เช่นกัน เช่นแว่นตาอยู่ตรงหัวเตียง โทรศัพท์อยู่บนโต๊ะ หรือกุญแจอยู่ในตะกร้าหน้าประตู เป็นต้น ด้านศาสตราจารย์ Mark McDaniel แห่ง ม. Washington ผู้เขียนหนังสือ Memory Fitness แนะอีกวิธีหนึ่งคือการเปล่งเสียงออกมาดังๆ เพื่อเตือนตัวเอง เช่นเมื่อวางกุญแจก็พูดออกมาดังๆ ว่า “ฉันวางกุญแจไว้ตรงนี้นะ” หรือถ้าไม่อยากตะโกนก็ใช้วิธีคิดแบบย้ำๆ อยู่ในหัวก็ได้ อีกวิธีหนึ่งคือการนึกให้เป็นภาพ เช่นเมื่อวางกุญแจแล้วก็หลับตานึกภาพกุญแจพวงนั้นอยู่ในตะกร้า หรือก่อนไปซื้อของก็นึกภาพแผนกที่เราต้องการซื้อของนั้นไว้ ก็อาจจะช่วยลดอาการหลงลืมได้เช่นกัน
นักวิจัยระบุไว้ว่า การทำงานของสมองคนเราโดยเฉพาะในด้านเกี่ยวกับความทรงจำนั้น จะมีประสิทธิภาพสูงสุดตอนอายุ 20 ปี จากนั้นก็จะค่อยๆ เสื่อมถอยลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น ถึงกระนั้น การฝึกฝนความสามารถในด้านการเรียกคืนความทรงจำให้เฉียบคมอยู่เสมอ ประกอบกับการมีสติใส่ใจกับสิ่งรอบๆ ตัว คือส่วนหนึ่งของเคล็ดไม่ลับที่จะทำให้เราดื่มด่ำกับความทรงจำไปนานๆ
รายงานจาก Wall Street Journal / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล