ที่มาที่ไป แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สะเทือนตุรกี-ซีเรีย

Residents and rescuers search for victims and survivors amidst the rubble of collapsed buildings following an earthquake in the village of Besnaya in Syria's rebel-held northwestern Idlib province on the border with Turkey, on Feb.6, 2022.

เมื่อวันจันทร์ เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในตุรกีและซีเรีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า อาจเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบสิบปี โดยทำให้เกิดรอยแยกยาวกว่า 100 กิโลเมตรระหว่างแผ่นเปลือกโลกอานาโตเลียและแผ่นเปลือกโลกอาหรับ

รอยเตอร์สรุปข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญถึงที่มาที่ไปและอาฟเตอร์ช็อกหลังโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งนี้

จุดกำเนิดของแผ่นดินไหว

ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองเนอร์ดากิในตุรกีราว 26 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 18 กิโลเมตร โดยอยู่บน “รอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก” แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ตอนกลางของตุรกีและซีเรีย

ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา “รอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก” แทบไม่มีการเคลื่อนไหวสะเทือนครั้งใหญ่ กรมสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ เผยว่า นับตั้งแต่ปี 1970 เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่า 6.0 ตามมาตราริกเตอร์เพียงสามครั้งในบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อย้อนไปเมื่อปี 1822 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ในพื้นที่นี้ คร่าชีวิตผู้คนราว 20,000 คน

แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงเพียงใด?

โดยปกติแล้ว จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่า 7.0 น้อยกว่า 20 ครั้งในแต่ละปี เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ครั้งนี้จึงถือว่ามีความรุนแรงเป็นพิเศษ

เมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ทางตอนกลางของอิตาลี ที่มีผู้เสียชีวิตราว 300 คน เมื่อปี 2016 แล้ว แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรียครั้งนี้ปล่อยพลังงานมากกว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นถึง 250 เท่า ตามข้อมูลของโจอันนา ฟอร์ วอล์คเกอร์ หัวหน้าสถาบัน Institute for Risk and Disaster Reduction ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2013-2022 เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเท่าแผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรียครั้งนี้เพียงสองครั้งเท่านั้น

Turkey Syria earthquake infographic

เหตุใดแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงรุนแรงมาก?

“รอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก” เป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับ ซึ่งเกิดจากชั้นหินแข็งของโลกที่ดันตัวเข้าหากันผ่านแนวรอยเลื่อนแนวตั้ง ทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลจนกระทั่งชั้นหินแข็งชั้นหนึ่งเคลื่อนตัวหลุดมาทางแนวนอน ปลดปล่อยแรงกดดันที่สะสมไว้เป็นจำนวนมาก จนอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น

รอยเลื่อนตามแนวระดับที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ได้แก่ “รอยเลื่อนแซนแอนเดรอัส” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า แรงกดดันในรอยเลื่อนดังกล่าวถูกสะสมมานานเกินควรแล้ว

เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรียครั้งนี้ เกิดขึ้นในชั้นดินที่ถือว่าไม่ลึกมากนัก โดยเดวิด โรเธอรี นักธรณีวิทยาดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Open University ของอังกฤษ กล่าวว่า การสั่นสะเทือนบนพื้นดินอาจรุนแรงขึ้นหากแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในชั้นดินที่ลึกกว่านี้

Your browser doesn’t support HTML5

แผ่นดินไหวรุนเเรงใน ตุรกีและซีเรีย คร่าชีวิตอย่างน้อย 3,400 ราย

จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกแบบใด?

เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.7 ในพื้นที่ประสบเหตุ เพียง 11 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก และในอีกหลายชั่วโมงต่อมา เกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกครั้งขนาด 7.5 และขนาด 6.0 ในช่วงบ่าย

โรเจอร์ มัสสัน นักวิจัยกิตติมศักดิ์ของกรมสำรวจธรณีวิทยาของอังกฤษ ระบุว่า แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้เคลื่อนตัวไปทางรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เคียงกัน และคาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 1822 เกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้นหลังจากนั้นต่อไปจนถึงปี 1823

ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะมีมากเท่าใด?

แผ่นดินไหวที่มีขนาดใกล้เคียงกันและเกิดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เนปาลเมื่อปี 2015 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 คน

มัสสัน แห่งกรมสำรวจธรณีวิทยาอังกฤษ คาดการณ์ว่า อาจมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดหลายพันไปจนถึงหลายหมื่นคน และอากาศหนาวอาจทำให้ผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง

  • ที่มา: รอยเตอร์