วิเคราะห์: ทำไมปธน.เกาหลีใต้ยกประเด็นอาวุธนิวเคลียร์มาพูด?

  • VOA

South Korean President Yoon Suk Yeol delivers a speech during a news conference to mark his first 100 days in office at the presidential office in Seoul, South Korea, Aug. 17, 2022.

ประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ กำลังจุดประเด็นถกเถียงที่ว่าเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ นับเป็นท่าทีที่อาจพลิกโฉมความเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ และยกระดับพลวัตด้านความมั่นคงในภูมิภาคได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ ได้เปิดประเด็นที่เป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก เมื่อเขากล่าวระหว่างแถลงนโยบายว่าเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง หากสถานการณ์ด้านความมั่นคงกับเกาหลีเหนือเลวร้ายลงกว่านี้

ถ้อยแถลงของผู้นำเกาหลีใต้ออกมาในลักษณะที่เหมือนว่าจะไม่ได้เตรียมการมาก่อนและเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ก่อนที่ทางผู้ช่วยของผู้นำเกาหลีใต้จะรีบออกมาแก้ข่าวว่าเกาหลีใต้ไม่ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

ในทัศนะของนักวิชาการ มองว่าความเห็นของปธน.ยูนเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่เกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตย

ชอง ซอง ชาง นักวิจัยอาวุโส จาก Sejong Institute องค์กรวิจัยด้านนโยบายระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า “นี่ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญอย่างยิ่ง .. จนถึงตอนนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เคยพิจารณาเรื่องการติดอาวุธนิวเคลียร์โดยอิสระ ไม่แม้แต่จะพิจารณาเป็น “แผนสำรอง” มาก่อน”

สำหรับประธานาธิบดียูน การพูดถึงนิวเคลียร์กลายเป็นแบบฉบับของเขาไปเสียแล้ว

ระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งปธน.เกาหลีใต้ ช่วงปลายปี 2021 ปธน.ยูน กล่าวว่าเขาจะพิจารณาขอให้มีการกลับมาใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ถอนอาวุธออกไปจากคาบสมุทรเกาหลีในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และยังกล่าวว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ กำลังหารือความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ ที่ผู้นำเกาหลีใต้คาดว่าจะนำไปสู่ปฏิบัติการคล้าย ๆ กับ “การแบ่งปันนิวเคลียร์”

SEE ALSO: ผู้นำเกาหลีใต้ เผยแผนหารือกับสหรัฐฯ กรณี ‘ซ้อมรบนิวเคลียร์’

สำหรับแรงจูงใจของปธน.ยูนนั้น ค่อนข้างตรงไปตรงมา จากที่เกาหลีเหนือมีพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามต่อเกาหลีใต้มากขึ้นพร้อม ๆ กับเร่งเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งคำกล่าวของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ในวันปีใหม่ ผู้นำเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ “อย่างเท่าทวีคูณ”

ผู้เชี่ยวชาญในกรุงโซลจำนวนมากต่างเชื่อว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งในความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของการกระชับสัมพันธ์ของสองชาติ นักวิเคราะห์หลายรายในเกาหลีใต้ ต้องการเห็นความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการทหารที่ยิ่งใหญ่ขึ้นรวมถึงเรื่องนิวเคลียร์ด้วย

ส่วนในภาพที่ใหญ่ขึ้น ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นด้านกลาโหมของรัฐบาลวอชิงตันต่อเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองภายในประเทศของอเมริกามีความวุ่นวาย บวกกับแนวคิดด้านนโยบายต่างประเทศที่อิงกับนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

พลวัตเหล่านี้ช่วยอธิบายถึงปรากฏการณ์คลื่นทัพนักวิชาการ อดีตเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ ที่ออกโรงสนับสนุนเกาหลีใต้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เอง

อะไรคือสิ่งที่ปธน.ยูนต้องการ?

นักวิเคราะห์มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสิ่งที่ปธน.เกาหลีใต้ ตั้งใจจะทำให้สำเร็จในการหารือด้านอาวุธนิวเคลียร์ บางส่วนเชื่อว่าเกาหลีใต้อาจต้องการติดอาวุธนิวเคลียร์ในเร็ววัน เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระดับมหาศาลที่จะตามมากับท่าทีดังกล่าว

อีกด้านหนึ่งมองว่า ปธน.ยูนอาจใช้ประเด็นนี้เพื่อส่งข้อความอันแข็งกร้าวให้กับเกาหลีเหนือ หรือเพื่อทำให้พันธมิตรสายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนนโยบายแข็งกร้าวกับรัฐบาลเปียงยางพอใจ

อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเกาหลีใต้บางราย เรียกร้องให้เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ ให้เพิ่มศักยภาพในการติดอาวุธนิวเคลียร์ หากเกาหลีใต้เลือกจะเดินตามเส้นทางนี้ และนักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า ความเห็นของปธน.เกาหลีใต้อาจออกมาเพื่อทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น

SEE ALSO: ผู้นำเกาหลีใต้หนุนแผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

แต่คำอธิบายที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด คือ ปธน.ยูนต้องการเปิดหน้ากดดันสหรัฐฯ ต่อสาธารณชน ให้เพิ่มความช่วยเหลือด้านกลาโหมมากขึ้น ในมุมมองของ โก มย็อง-ฮยอน จาก Asan Institute for Policy Studies สถาบันคลังสมองในกรุงโซล “ผมคิดว่า (ปธน.) ยูน ต้องการให้คณะทำงานปธน.ไบเดน เสนอมาตรการที่เสริมสร้างความสามารถในการป้องปรามที่ขยายวงกว้างออกไป” และว่า “เขาต้องการเน้นย้ำว่าเขามองภัยคุกคามเกาหลีเหนืออย่างจริงจังเพียงใด”

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เห็นชอบที่จะเพิ่มการซ้อมรบร่วมกันและส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเรือบรรทุกเครื่องบินที่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ไปยังภูมิภาคนี้บ่อยครั้งขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพเกาหลีใต้ประกาศว่าจะมีการซ้อมแผนบนโต๊ะ (table top exercises) กับสหรัฐฯ ที่จะศึกษาหนทางตอบโต้ร่วมกันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อันรวมถึง การที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะระบุว่า แนวคิดเรื่องการซ้อมรบนิวเคลียร์ร่วมกันจะไม่อยู่ในการเจรจาก็ตาม

สำหรับชาวเกาหลีใต้บางส่วน มองว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอ โดยแย้งว่าเกาหลีใต้ควรมีบทบาทใหญ่ขึ้นในการวางแผนและตัดสินใจเรื่องนิวเคลียร์สหรัฐฯ แต่เกาหลีใต้ไม่อาจพึงพอใจได้เต็มที่นัก เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จะใช้ในสถานการณ์ใดบ้าง

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป?

ระหว่างที่ปธน.ยูนอาจคิดว่าการเอ่ยถึงทางเลือกด้านนิวเคลียร์ จะกดดันสหรัฐฯ ให้จัดหาการรับประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยให้เกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เอริก บรูเวอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า “สิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะให้ผลตรงกันข้าม คือ ทำให้สัมพันธ์ตึงเครียดกว่าเดิม”

บรูเวอร์ จากหน่วยงาน Nuclear Threat Initiative ที่มุ่งเน้นการลดอาวุธและภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่าสหรัฐฯ “ควรรักษาสมดุลในการปิดประตูการหารือด้านอาวุธกับเกาหลีใต้อย่างแน่นหนา ในระหว่างที่หลีกเลี่ยงความบาดหมางกับชาติพันธมิตรแห่งนี้”

เขาเสริมว่า “สหรัฐฯ ควรมีความชัดเจนในที่แจ้งว่าจะไม่สนับสนุนการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ และว่ารัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลกรุงโซลมุ่งเน้นความร่วมมือในการกระชับสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างกัน ขณะที่ควรตอกย้ำระหว่างการหารือเป็นการภายในว่าความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ทั้งกับการรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ตลอดจนความพยายามเพิ่มความร่วมมือสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ในการป้องปรามที่ขยายวงกว้างออกไป”

หากรัฐบาลกรุงโซลยังเดินหน้าผลักดันเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของตนต่อไป อาจเสี่ยงต่อการทำลายความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้

ในมุมมองของบรูเวอร์ เห็นว่า “แนวคิดที่ว่า หากเกาหลีใต้โน้มน้าวให้สหรัฐฯ อนุญาตให้เข้าถึงนิวเคลียร์ได้แล้วทุกอย่างจะโอเค ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด และเกาหลีใต้เสี่ยงต่อการเผชิญมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ รวมทั้งการตอบโต้อย่างรุนแรงจากจีนอีกด้วย”

โก จาก Asan Institute for Policy Studies เสริมว่า หากเกาหลีเหนือเดินหน้ายิงขีปนาวุธหรือทดสอบอาวุธอื่น ๆ เพื่อยั่วยุเกาหลีใต้ต่อไป ปธน.ยูน อาจจะรู้สึกกดดันที่จะเพิ่มมาตรการเชิงรุกอื่น ๆ มากกว่านี้ได้ “มีอยู่สองทางที่จะเลวร้ายลงไปสำหรับเกาหลีใต้ อย่างหนึ่งคือ ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้น อย่างการเพิ่มการสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปแบบทวีคูณ และอย่างที่สอง คือ แผนตอบโต้ของสหรัฐฯ นั้นมีไม่เพียงพอ”

  • ที่มา: วีโอเอ