ผลสำรวจของบริษัทวิจัย Gallup ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า คนทั่วโลกเผชิญความเศร้าและความเครียดมากขึ้นในปี 2021 และอาการทั้งหมดนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่เคยมีมา โดยการศึกษาพบว่า ผู้ใหญ่จำนวน 4 ใน 10 คนยอมรับว่า พวกเขารู้สึกกังวลหรือมีความเครียดอย่างมาก
สำหรับเหตุผลของอาการเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้คนต้องแยกตัวออกห่างจากสังคม รวมเรื่องของความไม่แน่นอนที่ตามมาจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของความเศร้าและความเครียดได้เช่นกัน
แครอล แกรมห์ นักวิจัยอาวุโสจาก บริษัท Gallup กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้คนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง คือ ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ
แกรมห์ ซึ่งเป็นนักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Brookings Institution และอาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัย University of Maryland ด้วย อธิบายว่า “มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเชิงโครงสร้างที่ส่งผลลบต่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งท้ายที่สุดสะท้อนออกมาผ่านสุขภาพจิต”
เธอกล่าวด้วยว่า ปัญหานี้ชัดเจนในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก ทำให้พวกเขาไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคต ความมั่นคงในชีวิต และภาวะต่าง ๆ ในตลาดแรงงาน รวมทั้ง ประเด็นเรื่องระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่มีทักษะและกลุ่มแรงงานที่ไร้ทักษะซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นและมีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี
ในรายงานล่าสุดนี้ที่ชื่อว่า Global Emotions Report บริษัท Gallup ได้พูดคุยกับประชาชนวัยผู้ใหญ่จาก 122 ประเทศและดินแดนต่างๆ โดยพบว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีความสุขมากที่สุด และประชาชนชาวอัฟกันถูกจัดว่าเผชิญประสบการณ์ที่ย่ำแย่เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก
จอช ไบรลีย์ นักจิตวิทยาจากสถาบัน The American Institute of Stress ไม่รู้สึกแปลกใจกับผลการสำรวจดังกล่าวเลย และเขาให้ทัศนะว่า “(สมัยนี้) สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลมากมายก็หลั่งไหลเข้าหาเราตลอดเวลา” และว่า “สื่อเองก็มักนำเสนอแต่เรื่องแย่ ๆ ทำให้เราได้รับแต่ข่าวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย วิทยุ รวมไปถึงพอดแคสต์ และทั้งหมดนี้ได้กลบเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นไปจนหมด”
แมรี่ คาราเพเชี่ยน แอลเวอร์ด ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา กล่าวว่า การเชื่อมต่อทางออนไลน์สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คน แม้ว่าจะอาศัยอยู่คนละประเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นในอดีต โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่คนไข้ในประเทศสหรัฐฯ มาปรึกษากับเธอ คือ เรื่องความไม่แน่นอนที่สร้างความเครียดมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกรณีราคาสินค้าและน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และเหตุยิงกราดหลายต่อหลายครั้งจนทำให้คนเริ่มสงสัยว่า จะหาความปลอดภัยในชีวิตได้จากที่ใดแล้ว
ทั้งนี้ รายงานของบริษัทวิจัย Gallup ระบุด้วยว่า ความสุขของคนทั่วโลกมีแนวโน้มในทิศทางขาลงมาเป็นเวลามากกว่าทศวรรษแล้ว และสำนักข่าว VOA ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาจำนวน 3 รายซึ่งทั้งหมดต่างชี้ประเด็นไปที่ “สื่อโซเชียล” และการหลั่งไหลเข้ามาของข้อมูลที่ไม่ถูกกลั่นกรอง ว่าเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ผู้รับสารมีปัญหาสุขภาพจิตและความสุขที่ลดลง
นอกจากนั้น จอช ไบรลีย์ นักจิตวิทยาจากสถาบัน The American Institute of Stress ให้ความเห็นด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์มากกว่าในชีวิตจริง ขณะที่ การติดต่อทางกายภาพนั้นได้เปลี่ยนไป เพราะถึงแม้ผู้คนอาจรู้สึกว่า ตนได้เชื่อมต่อกับคนทั่วโลกมากขึ้น แต่หลายคนกลับไม่รู้จักชื่อของเพื่อนบ้านของตัวเองเลย
อย่างไรก็ดี ในการสำรวจล่าสุดนี้ ทีมวิจัยว่า ในปี 2021 อัตราส่วนของคนที่มีรอยยิ้มและหัวเราะมากขึ้นปรับเพิ่ม 2 จุด และอัตราส่วนของผู้ที่ทำการเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจปรับเพิ่ม 1 จุด
แมรี่ คาราเพเชี่ยน แอลเวอร์ด ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา มองว่า การมองข้ามเรื่องด้านลบ คือ สิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาสุขภาพจิต และย้ำว่า คนเราต้องมองหาความพึงพอใจในชีวิต และถ้าเป็นไปได้ ควรค้นหา “ช่วงที่มีความสุข” แต่ไม่ต้องตั้งความคาดหวังที่สูงเกินไป และให้อยู่กับความเป็นจริง
นอกจากนี้ การสำรวจยังชี้ว่า กลุ่มคนชายขอบ ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ จัดว่า เป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวมากที่สุด
แครอล แกรมห์ นักวิจัยอาวุโสจาก บริษัท Gallup ให้คำอธิบายว่า “แม้คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคนแอฟริกันอเมริกันที่มีรายได้น้อย จะมีความเครียดที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเขายังคงรักษาการมองโลกแง่ดีไว้ได้ในระดับสูง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การมองโลกแง่ดีของคนกลุ่มนี้ยังคงอยู่ โดยเชื่อว่า ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสังคมในชนกลุ่มน้อย ที่สร้างความมั่นคงทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา และสิ่งนี้ช่วยปกป้องคนในสังคมดังกล่าวมาอย่างยาวนาน”
- ที่มา: วีโอเอ