ทำไมคนเราถึงมักตั้ง ‘ปณิธานปีใหม่’ เป็นของขวัญให้ตนเอง?

  • VOA

ภาพบริเวณไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก เตรียมฉลองปีใหม่ 2024

เมื่อเดือนธันวาคมใกล้สิ้นสุดลง ชาวอเมริกันหลายล้านคนมักเริ่มหันมามองตนเองและสัญญิงสัญญาว่า จะลดน้ำหนัก ออมเงินให้มากขึ้น หรือเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ แม้คนส่วนใหญ่จะลืมคำสัญญาที่ว่านี้ภายในเวลาไม่กี่เดือนก็ตาม

แล้วทำไมคนเราถึงยังชอบตั้ง “ปณิธานปีใหม่” กันนัก

ในสังคมยุคใหม่นั้น การเปลี่ยนปฏิทินขึ้นปีใหม่อาจไม่สร้างความแตกต่างไม่มากในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา แต่ในประวัติศาสตร์ของโลกเรานั้น มนุษย์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในสังคมเกษตรกรรมซึ่งผูกติดกับฤดูการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่วนกลับมาประจำทุกปี

การศึกษาค้นคว้าชี้ว่า การตั้งปณิธานปีใหม่แรก ๆ ของคนเรานั้นเกิดขึ้นในอาณาจักรบาบิโลน ในยุคเมโสโปเตเมียโบราณ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อมีการฉลองเทศกาลอคิตู หรือเทศกาลเฉลิมฉลองในฤดูใบไม้ผลิ ผู้คนจะสัญญาที่จะชำระหนี้และจะนำอุปกรณ์ทำการเกษตรมาคืน

ปฏิทินบาบิโลนั้นมีระยะเวลา 12 เดือนเช่นกันและผู้คนในยุคโบราณทั้งหลายมีการใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมถึงในสังคมชาวโรมันที่จะสัญญาสาบานต่อหน้าเทวรูปเทพ 2 หน้าที่เป็นสัญลักษณ์การมองไปกลับไปในปีที่ผ่านมาและการมองไปยังข้างหน้าพร้อม ๆ กัน โดยเทพองค์ดังกล่าวคือ เทพเจนัส (Janus) ซึ่งเป็นชื่อที่เป็นที่มาของชื่อเดือนแรกของปีด้วย

และในปัจจุบัน วัฒนธรรมหลายประเทศรอบโลกมีการทำพิธีที่เตือนให้ผู้คนหันไปมองกลับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและแสดงความหวังต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย แม้เนื้อหาและช่วงเวลาของประเพณีที่ว่านี้จะต่างกันไปในแต่ละที่ก็ตาม

ในสหรัฐฯ ปณิธานปีใหม่มักเน้นกันที่เรื่องของการปรับปรุงตนเอง (self-improvement) และการตั้งเป้าหมายอันเป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งด้านการงานและด้านส่วนตัวของแต่ละคน ขณะที่ ชาวอิตาเลียนก็มีธรรมเนียมการตั้ง "buoni propositi” หรือ ความตั้งใจอันดีในปีที่กำลังจะมาถึง

ขณะเดียวกัน ในบางประเทศ ปีใหม่หมายถึงเวลาของการขอพร ไม่ใช่การให้คำมั่นสัญญา อย่างเช่น ที่บราซิล ในช่วงปลายปีและขึ้นปีใหม่ที่เป็นตรงกลางของฤดูร้อน คนที่นั่นจะก้าวลงไปในมหาสมุทรและกระโดดข้ามคลื่น 7 ลูกตอนเที่ยงคืนพร้อม ๆ กับอธิษฐานขอพรหนึ่งข้อ แต่ที่รัสเซีย ผู้คนจะเขียนคำขอพรของตนลงในกระดาษและเผาเป็นเถ้าก่อนจะนำมาผสมกันแชมเปญเพื่อดื่ม

ภาพการตกแต่งเทศกาลตรุษจีนในนครนิวยอร์ก

ส่วนในช่วงตรุษจีนซึ่งมักตรงกับปลายเดือนมกราคมหรืออาจเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้คนจะร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลองที่ดำเนินเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ซึ่งเต็มไปด้วยงานเลี้ยง พิธีต่าง ๆ และการนำสิ่งของบางอย่างมาประกอบ เช่น ซองแดงหรืออั่งเปา อันมีความหมายถึงความมีโชคดี สุขภาพแข็งแรงและความมั่งคั่งในปีที่กำลังจะมาถึง

แต่สำหรับผู้เฉลิมฉลองปีใหม่ในปฏิทินของชาวยิวซึ่งรู้จักกันในชื่อ “รอช ฮาชานาห์ (Rosh Hashanah)” หรือ “หัวแห่งปี” ที่มักตรงกับช่วงต้นของฤดูใบไม้ร่วง จะมีการใช้เวลา 10 วันเพื่อการชดใช้ ด้วยการสำนึกผิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในปีที่เพิ่งผ่านไป

เมื่อลองพิจารณาประเพณีและที่มาที่ไปของ “ปณิธานปีใหม่” และพบว่า นี่เป็นประเพณีโบราณที่มีผู้ปฏิบัติกันทั่วโลกแล้ว คำถามก็คือ ทำไมคนเราถึงมักทำตามสัญญาของตนไม่ได้

นักจิตวิทยาให้ความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ การที่เป้าหมายของเรานั้นมักมีความทะเยอทะยานเกินจริงไป หรือมีหลายอย่างมากไป หรือไม่ก็กว้างเกินไป

ทั้งนี้ เป้าหมายทั่วไปเช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หรือ อ่านหนังสือให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำตามได้ยากกว่าเป้าหมายที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น การหยุดดื่มน้ำอัดลม หรือ การอ่านหนังสือให้ได้วันละ 20 หน้า เป็นต้น นอกจากนั้น ปณิธานที่มีมากมายหลายข้อก็ดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จและอาจทำให้ผู้ตั้งลืมทำไปได้บ้าง ขณะที่ การตั้งเป้าหมายที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ การทำตามไม่ค่อยได้ตั้งแต่ต้นอาจทำให้หลายคนรู้สึกท้อแท้จนเลิกไปเลยก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงก็คือ “ปณิธานปีใหม่” นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงปีใหม่เสมอ

แอนโตนิโอ แกรมชี อดีตนักปรัชญาแนวมาร์กซิสม์ เคยกล่าวไว้ว่า แทนที่จะพยายามทำตามสิ่งที่สังคมปฏิบัติตามกันมา คนเราควรจะใช้เวลาในตอนเช้าทบทวนตัวเองเพื่อปรับปรุงและทำสิ่งใหม่ ๆ มากกว่า ขณะที่ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ปณิธานที่สามารถประสบความสำเร็จมากที่สุด เมื่อแรงจูงใจนั้นคือ ความจำเป็นที่แท้จริงและการที่ปณิธานนั้น ๆ เข้ากับเส้นทางการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่เราตั้งไว้ ปณิธานนั้นยังเป็นหนทางสำคัญในการทบทวนทุกอย่างในชีวิตของเราให้ละเอียดและทำการเตือนตัวเองว่า พลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตนั้นอยู่ในมือของเราเสมอ

  • ที่มา: รอยเตอร์