อนามัยโลกระบุเยาวชนทั่วโลกออกกำลังกายไม่พอ-น้อยกว่า 1 ชม.ต่อวัน

FILE - Children exercise during a weight-losing summer camp in Shenyang, Liaoning province, China.

รายงานฉบับใหม่พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ได้ออกกำลังกายเพียงพอเป็นประจำทุกวันเพื่อให้มีสุขภาพดี และเพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง

การศึกษาขององค์การอนามัยโลกได้แสดงผลการประเมินเรื่องการออกกำลังกายที่ไม่พอเพียงในหมู่วัยรุ่นอายุ 11 ปี ถึง 17 ปี ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกทั่วโลก

ข้อมูลจากการศึกษานี้ถูกรวบรวมมาจากเยาวชน 1.6 ล้านคนใน 146 ประเทศ ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิงมีความกระฉับกระเฉงน้อยกว่าเด็กผู้ชายในทุกประเทศ ยกเว้น 4 ประเทศซึ่งได้แก่ ตองกา ซามัว อัฟกานิสถาน และแซมเบีย

รายงานยังระบุว่าช่องว่างระหว่างเพศที่ใหญ่ที่สุดพบในสหรัฐฯ และไอร์แลนด์ โดยมีเด็กผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกายเลยมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 15%

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บรรดาวัยรุ่นออกกำลังกายในระดับปานกลางหรือระดับเข้มข้นวันละหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

Regina Guthold นักวิทยาศาสตร์แผนกสุขภาพมารดา ทารกแรกเกิด เด็ก และวัยรุ่นขององค์การอนามัยโลก และเป็นหัวหน้าการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า การออกกำลังกาย 60 นาทีสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนละ 20 นาทีในหนึ่งวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

และว่าการออกกำลังกายช่วยให้เยาวชนมีสุขภาพหัวใจที่ดีขึ้น มีระบบทางเดินหายใจดีขึ้น และมีฟังก์ชั่นการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ทำให้การเรียนหนังสือง่ายขึ้น นอกจากนี้ช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมทางสังคมที่ดีขึ้นด้วย และอาจเป็นไปได้ว่าผลประโยชน์เหล่านี้จะติดตามไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งหมายความว่าวัยรุ่นที่กระฉับกระเฉงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่กระฉับกระเฉงด้วยเช่นเดียวกัน

Guthold กล่าวต่อไปอีกว่า การออกกำลังกายทุกรูปแบบล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน กีฬาแบบเป็นทีม การเต้น การทำงานบ้าน การเรียนวิชาพลศึกษาและการออกกำลังกายตามแผน

การศึกษาพบว่าคนหนุ่มสาวทุกหนทุกแห่งในโลกไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า 85% ของเด็กผู้หญิงและ 78% ของเด็กผู้ชาย ไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ว่าควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง

Leanne Riley ผู้ร่วมทำการศึกษา กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนไม่ได้ออกกำลังกาย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของยุคอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหวของวัยรุ่น ทำให้พวกเขานั่งมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เดินน้อยลง เพราะหันมาเล่นเกมดิจิตัลกันมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ทางโรงเรียนควรส่งเสริมการเรียนวิชาพลศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเล่นกีฬาทั้งแบบที่ลงแข่งและไม่ต้องลงแข่ง และยังให้คำแนะนำว่า บรรดาบริหารเมืองและชุมชนควรสร้างทางเดินพิเศษเพื่อให้วัยรุ่นเหล่านี้ได้เดินหรือปั่นจักรยานกันอย่างอิสระเเละปลอดภัย