WHO เร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการหยุดยั้งการค้าขายบุหรี่เถื่อน

  • Lisa Schlein

The World Health Organization says that tobacco kills 6 million people yearly — a figure that is expected to rise to 8 million by 2030 unless urgent action is taken.

WHO คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคนต่อปีภายใน 15 ปีข้างหน้าหากยังไม่เพิ่มความพยายามลดการสูบบุหรี่ทั่วโลก

Your browser doesn’t support HTML5

WHO เร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ หยุดยั้งการค้าขายบุหรี่เถื่อน

ในขณะที่ผู้ลักลอบค้าบุหรี่เถื่อนและผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฏหมายร่ำรวยมากขึ้น ผู้สูบบุหรี่กำลังยากจนลง ราคาบุหรี่ต่อมวนที่ขายตามท้องถนนอาจจะถูก แต่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคที่มากับบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น

องค์การอนามัยโลกประมาณว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่หนึ่งคนต่อทุกหกวินาทีหรือหกล้านคนต่อปี

องค์การอนามัยโลกพยากรณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 8 ล้านกว่าคนต่อปีภายในปีคริสตศักราช 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าหากยังไม่เพิ่มความพยายามลดการสูบบุหรี่ในระดับทั่วโลกลง

นายดักลาส เบ็ทท์เช่อร์ ผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันโรคไม่ติดต่อแห่งองค์การอนามัยโลกเรียกการค้าขายบุหรี่เถื่อนว่าเป็นปีศาจร้าย เขากล่าวว่าบุหรี่เถื่อนมีผลร้ายต่อสุขภาพตามมา โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่นเพราะเป็นบุหรี่ลอกเลียนบุหรี่ยี่ห้อแต่ขายในราคาถูก

เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุดเพราะมีโอกาสติดบุหรี่ไปตลอดชีวิตและจะเสียชีวิตจากโรคร้ายที่มากับการสูบบุหรี่ เขากล่าวว่าผู้ลักลอบค้าขายบุหรี่เถื่อนเป็นส่วนหนึ่งเครือข่ายอาชญากรรมที่หาประโยชน์แก่ตน หลีกเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นรายได้ของประเทศ

องค์การอนามัยโลกชี้ว่าประเทศรายได้น้อยต้องพึ่งพาภาษีสินค้าและบริการเป็นหลัก แต่การค้าขายบุหรี่เถื่อนทำให้ทางการสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตรที่ควรจะได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในการบริการประชาชน รวมทั้งการบริการทางสาธารณสุข

องค์การอนามัยโลกชี้ว่าเอกสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ถูกเปิดเผยหลังการพิจารณาคดีต่างๆ ของศาลชี้ว่า อุตสาหกรรมยาสูบมีบทบาทในการส่งเสริมการค้าขายบุหรี่เถื่อนทั่วโลก

ด้าน Vera da Costa e Silva ผู้อำนวยการสำนักงาน Framework Convention on Tobacco Control แห่ง WHO กล่าวว่าอุตสาหกรรมยาสูบกับภาคการรักษาพยาบาลไม่มีทางลงรอยกันได้ มีหลายครั้งที่อุตสาหกรรมยาสูบเอาเปรียบผู้ผลิตบุหรี่เถื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน เพียงเพื่อช่วยให้ตัวเองเข้าไปขายในตลาดบุหรี่ของประเทศที่สามได้เท่านั้น เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับบริษัทคู่เเข่งบริษัทอื่น

มาถึงขณะนี้มีประเทศต่างๆ ลงนามรับรองสนธิสัญญาเพื่อยุติการค้าขายบุหรี่เถื่อนแล้วอย่างน้อย 8 ประเทศ แต่ยังต้องการการลงนามรับรองจากอีก 40 ประเทศเสียก่อนที่จะประกาศเป็นกฏหมายระหว่างประเทศได้ และเมื่อประกาศเป็นกฏหมายระหว่างประเทศเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะมีมาตรการต่างๆ ออกมามากมายในการจัดการทางกฏหมายกับผู้ค้าขายบุหรี่เถื่อน

ภายใต้สนธิสัญญานี้ รัฐบาลประเทศสมาชิกจะสามารถตั้งบทลงโทษทางอาญากับผู้ลักลอบค้าขายบุหรี่เถื่อน ผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฏหมายและการลักลอบผ่านทางชายแดนได้