‘อนามัยโลก’ เตือนทั่วโลก เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น 

FILE - Yasuda Toyoko (95), who has stomach cancer and dementia, watches television in the living room of her daughter's house in Tokyo, Japan, Sept.r 6, 2017.

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เตือนให้หลายประเทศเตรียมพร้อมรับต่อโรคสมองเสื่อมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 55 ล้านคน ขณะที่มีแนวโน้มผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั่วโลก

รายงานการวิเคราะห์ของแผนปฏิบัติการระดับโลกของ WHO ต่อโรคสมองเสื่อมเมื่อปีค.ศ. 2017 ระบุว่า มีประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ใช้มาตรการเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคนี้ โดยมีประเทศเพียงราว 25 % ที่มีแผนระดับชาติเพื่อสนับสนุนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัว

WHO เตือนว่า หลายประเทศยังไม่เตรียมพร้อมต่อปัญหาสาธารณสุขนี้ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน 55 ล้านคนทั่วโลก โดยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

WHO คาดการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะมีมากถึง 78 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 139 ล้านคนในปีค.ศ. 2050 องค์การอนามัยโลกยังประมาณการด้วยว่า ค่าใช้จ่ายต่อโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นจากก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2030

แคทริน ซีเฮอร์ เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของแผนกสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดของ WHO ระบุว่า ประเทศจำนวนมากไม่มีนโยบายเบื้องต้นในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาโรคสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ จะต้องมีการลดช่องว่างระหว่างประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำถึงปานกลาง และช่องว่างระหว่างพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ชนบทด้วย

ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมเกิดจากโรคและการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยมักส่งผลกระทบต่อความจำและการใช้ความคิดของสมอง ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบากขึ้น

ทารัน ดูอา หัวหน้าหน่วยของแผนกสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดของ WHO ระบุว่า แม้โรคดังกล่าวจะไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่การรับมือเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การบริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ การลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก และควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคซึมเศร้า ก็อาจช่วยลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

WHO ระบุว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การรับบริการสุขภาพในชุมชน ระบบการพักฟื้น ระบบดูแลในระยะยาว และการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ

บุคลากรด้านสาธารณสุขระบุว่า ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องปกติของภาวะสูงวัย และประเทศต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรองรับประชาชนที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้นนับจากนี้