Your browser doesn’t support HTML5
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ได้ช่วยค้นหาครอบครัวที่พลัดพรากจากกันมาหลายทศวรรษได้ และช่วยตอบคำถามที่ยากที่สุดในชีวิตของใครหลายคนที่ว่าลูกครึ่งไทยอเมริกันที่เกิดในช่วงสงครามเวียดนามว่า “พ่อของฉันคือใคร?”
นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ ถ่ายทอดเรื่องราวของ 3 ลูกครึ่งไทยอเมริกัน ที่ประสบความสำเร็จในการตามหาพ่อด้วยการตรวจดีเอ็นเอ และกลับมาช่วยเหลือกลุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกันในการตามหาพ่อที่เป็นอดีตทหารอเมริกันที่ประจำการในประเทศไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ผ่านสารคดี Who's My Dad?
ในตอนสุดท้าย คือเส้นทางชีวิตของ ลัดดาวัลย์ แอนดี้ ออเด็ท ลูกครึ่งไทยอเมริกันรุ่นแรกในสงครามเวียดนาม ในการตามหาญาติที่หายไปด้วยดีเอ็นเอ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือลูกครึ่งไทยอเมริกันคนอื่น ๆ ตามหาพ่อที่เป็นอดีตทหารอเมริกันที่ประจำการในประเทศไทยในช่วงสงคราม
“อันนี้คือกลุ่มดีเอ็นเอชุดที่สอง มอริสก็ติดต่อแอนดี้ว่าคนพวกนี้ต้องการชุดตรวจนะ คนนี้เจอ คนนี้ไม่เจอ คนนี้เจอ คนนี้นานหน่อย คนนี้สองอาทิตย์เจอเลย แล้วก็ลงทีวี”
ลัดดาวัลย์ แอนดี้ ออเด็ท หรือ แอนดี้ ลูกครึ่งไทยอเมริกันรุ่นแรกในสงครามเวียดนาม เล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงการช่วยเหลือกลุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกันในการตามหาพ่อที่เป็นอดีตทหารอเมริกันช่วงสงครามเวียดนาม ผ่านการใช้ชุดตรวจดีเอ็นเอ
แต่สำหรับกรณีของแอนดี้ จุดเริ่มต้นของการตามหาครอบครัวด้วยชุดตรวจดีเอ็นเอของเธอ แตกต่างจากลูกครึ่งไทยอเมริกันคนอื่น ๆ
“เราตั้งใจว่าจะตามหาน้อง ตามหาน้องสาว เพราะน้องสาวคนเล็กถูกขอมาเลี้ยงอยู่ที่ยูทาห์ตอนที่น้องอายุ 4 ขวบ แอนดี้อายุ 12 ขวบตอนนั้น .. ก็เลยทำดีเอ็นเอเพื่อตั้งใจจะหาน้อง แต่ไม่เจอ แต่ไปเจอ first cousin คือลูกพี่ลูกน้อง เราก็ถามเขาว่าลุงของยูหรืออาของยูเคยไปสงครามเวียดนามหรือเปล่า? เขาก็บอกว่า ใช่ เขามีลุงมีอาทั้งหมด 6 คน แล้วทั้ง 6 คนไปสงครามหมด แต่กว่าแก่แล้วเสียชีวิตหมดแล้ว ก็เลยจบ แอนดี้ก็เลยไม่ติดตามต่อ ก็เลยมาเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง”
หลังจากค้นพบพ่อของตัวเองด้วยการตรวจดีเอ็นเอแล้ว เธอได้นำประสบการณ์ของเธอไปช่วยเหลือเพื่อนลูกครึ่งไทยอเมริกันที่ต้องการตามหาพ่อ ด้วยการกระจายข่าวเรื่องเทคโนโลยีชุดตรวจดีเอ็นเอในกลุ่มเฟสบุ๊ก ที่เป็นการรวมกลุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกันที่เกิดในสมัยสงครามเวียดนาม และรู้จักกันผ่านมูลนิธิ Pearl S. Buck ประเทศไทยเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือรุ่นแรก ๆ คือ มอริส เค
“ก็คือเราติดต่อประจำกันอยู่แล้ว มอริสนี่บอกว่าเอ้ยมาเมืองไทยเอากล่อง DNA มาให้ด้วยนะ แล้วก็เออใครจะเอามั่ง ใครจะเอามั่ง เขาก็ tag กันมาที่ facebook คือเวลาเรามาเจอกันก็เปิดกล่องกัน ก็ register ด้วยกัน ลงทะเบียนด้วยกัน ก็ ใส่ sample ด้วยกัน แล้วเราก็บอกว่าทำยังไง ๆ เป็นขั้น ๆ ตอน เราขนตัวอย่างกลับมาที่อเมริกา ใส่กระเป๋ากลับมาที่อเมริกา”
กระบวนการตรวจและรู้ผลจากห้องแลบใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ แต่สิ่งที่ยาวนานและยากกว่านั้น คือ การยอมรับของพ่อบังเกิดเกล้าและครอบครัวในอีกฟากฝั่งของโลก ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งกรณีที่สมหวังและผิดหวัง แต่ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน การเตรียมใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“มันก็จะมีหลายกรณีที่เจอแล้วแมตช์กันแล้ว เขายังช็อคว่าเขาไม่รู้ว่ามีลูก หลายคนที่ไม่รู้ว่ามีลูก มันก็เลยใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอกัน คือมันมีเยอะเลยที่เจอพ่อ .. ”
“ต้องเข้าใจว่าพ่อของเราอ่ะ บางทีเขาก็ไม่รู้เลยว่าเขามีลูก ฉะนั้นเขาจะ shock ฉะนั้นเราต้องให้เวลาเขา เขาอาจจะรับหรือไม่ยอมรับเราต้องเตรียมตัว เตรียมตัวไว้เลย แค่นี้แหละ ว่าเขาจะรับหรือไม่ยอมรับ ก็มีอยู่ มีอยู่ 2 อย่าง อ่ะ ถ้าเขารับเราก็ติดต่อเขาไป .. คือหลายกรณีอ่ะ คือไปได้สวยอ่ะ พอเจอกันแล้วก็ไปได้สวย ถ้าตราบใดเราไม่ เราไม่ ตัดพ้อ ต่อว่า คือสิ่งที่มันผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ให้ happy กับตรงนี้ที่เราได้เจอกัน ถ้าเราได้เจอเขาแล้ว แต่ถ้าเขาปฏิเสธเราก็ต้องยอมรับแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไป”
สำหรับแอนดี้แล้ว การได้ช่วยให้เพื่อนลูกครึ่งไทยอเมริกัน ตอบคำถามที่ค้างคาใจตลอดชีวิตของพวกเขาที่อยู่มาถึงเกือบ 60 ปี ไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากสำหรับเธอเลย
“ก็สบายใจได้ช่วยเขา มันก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้ถือว่าเราต้องออก out of the way เพราะว่าเราต้องไปเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะว่าเราต้องไป ๆ มา ๆ อยู่แล้ว ก็เลยช่วยกันหน่อย อันนั้นน่ะ พี่ไม่คิดอะไรเลย ไม่มีปัญหาแล้วก็อยาก ก็อยากให้เขาได้เจอพ่อ”
ทั้งนี้ ลัดดาวัลย์ แอนดี้ ออเด็ท, เอลซิส โจนส์ และมอริส เคเพิล โรเบิร์ตส ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือลูกครึ่งไทยอเมริกันที่เกิดในช่วงสงครามเวียดนามในการค้นหาพ่อที่เป็นทหารอเมริกันผ่านกลุ่มเฟสบุ๊กดังกล่าว ซึ่งตอนนี้มีลูกครึ่งไทยอเมริกัน 40 คน ที่พบและได้ติดต่อกับพ่อของพวกเขาอีกครั้ง และอีก 8 คนกำลังรอคำตอบกันอยู่
- รายงานโดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ VOA Thai