Your browser doesn’t support HTML5
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ได้ช่วยค้นหาครอบครัวที่พลัดพรากจากกันมาหลายทศวรรษได้ และช่วยตอบคำถามที่ยากที่สุดในชีวิตของใครหลายคนที่ว่าลูกครึ่งไทยอเมริกันที่เกิดในช่วงสงครามเวียดนามว่า “พ่อของฉันคือใคร?”
นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ ถ่ายทอดเรื่องราวของ 3 ลูกครึ่งไทยอเมริกัน ที่ประสบความสำเร็จในการตามหาพ่อด้วยการตรวจดีเอ็นเอ และกลับมาช่วยเหลือกลุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกันในการตามหาพ่อที่เป็นอดีตทหารอเมริกันที่ประจำการในประเทศไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ผ่านสารคดี Who's My Dad? ในตอนที่สอง จะพาไปติดตามชีวิตของ เอลซิส โจนส์ ผู้จัดการร้านอาหารญี่ปุ่นในอเมริกา ที่ได้พบพ่อชาวอเมริกันด้วยชุดตรวจดีเอ็นเอ หลังพยายามมากว่า 44 ปี
เอลซิส โจนส์ ลูกครึ่งไทยอเมริกันที่เกิดสมัยสงครามเวียดนาม วัย 48 ปี ที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการร้านอาหารญี่ปุ่นในอเมริกา เล่าถึงความปรารถนาในการตามหาพ่อตั้งแต่วัยเด็ก
“ทุกคนมันก็ต้องมี อยากมีความอบอุ่นเนอะ เห็นคนนั้นคนนี้มีพ่อ ใช่ไหม? เออ เราก็อยากมี อย่างน้อยเราก็อยากสัมผัส ครั้งนึงก็ยังดี ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าพ่อเราเป็นคนยังไงใน ณ ตอนนั้น ถ้าวันนึงเราได้เจอเขา เราก็จะได้รู้ว่าคนนี้คือพ่อเรา”
เอสซิสเริ่มต้นเส้นทางการตามหาพ่อที่เป็นทหารชาวอเมริกันเมื่อเขาย้ายจากอุดรธานีมาอยู่ที่อเมริกากับป้าตอนอายุ 16 ปี
“สมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ตเนาะ ทำอะไรจะติดตามหาคนนี่มันลำบาก สิ่งแรกที่เราคิดได้เริ่มรู้จัก Phonebook แต่ละเมืองจะมี phonebook ของเขา มันก็เหมือนบ้านเราเปิดดูรายชื่อ แต่ก็ไม่มี .. "
"ยิ่งมีคอมพิวเตอร์ยิ่งคัน ไปไหนมาไหนพี่จะมีคอมพิวเตอร์ตลอด พี่จะใช้เวลาหาพ่อ เข้าไปลิงค์ของทหารบ้าง มันเป็นงานอดิเรกของพี่ เลิกงานมาต้องกดหาชั่วโมงสองชั่วโมง ก็พยายามแต่ก็หาไม่เจอสักที”
จากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่ไม่ประสบความสำเร็จ เอลซิส เริ่มท้อแท้กับการตามหาพ่อที่แท้จริงของเขา จนกระทั่งมีบางสิ่งเกิดขึ้น
“ปี 2018 ตอนนั้นพี่อายุ 44 ปีพอดี คืนนั้นรู้สึกท้อ นั่งกดนั่งกดคอมพิวเตอร์รู้สึกท้อ คืนนั้นนะท้อมาก มันเบื่อมาก จุดจุดหนึ่งว่า มันต้องมีอะไรผิด มันต้องไม่ใช่อะไรสักอย่างแน่นอน อยากจะหาพ่อเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จะไม่หาอีกแล้ว พอเช้าวันต่อมา พี่กับแฟนพี่นั่งดูทีวี มันมีโฆษณา Ancestry DNA แฟนพี่เลยบอกว่าลองสั่งมาดูมั้ย เผื่อหาพ่อเจอ”
และแน่นอนว่า ความพยายามของเขาได้รับคำตอบ ...
“3 อาทิตย์เขาส่งผลมาให้ บอกว่าเป็นพ่อเป็นลูกกัน ขนลุกเลยนะตอนที่อ่านข้อความ DNA ยู match กับคน ๆ นี้นะ พี่เริ่มติดต่อพ่อด้วยการส่งข้อความไปที่ message ที่เขามีให้ในแอปฯ ... สิ่งแรกที่บอกไปว่ารู้จักผู้หญิงคนนี้ไหม ชื่อชวนพิศ นามา เขาก็ตอบมาเขารู้จักอะไรอย่างนี้ แล้วก็เราก็เริ่มติดต่อกันทางอีเมล และเขาก็ส่งรูปภาพที่เขาเคยอยู่เมืองไทยสมัยก่อนที่อยู่อุดรฯ เขาก็ส่งรูปแม่มาสมัยแม่เป็นสาว แม่สวยมากนะ คุณแม่น่ารักมาสมัยก่อน ยาย ญาติพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกันนะ ก็เห็นหมดเลย โหนี่เราก็รู้แล้วว่าผู้ชายคนนี้คือพ่อเรา”
แต่คำตอบที่ตามหามาพร้อมกับหลากหลายคำถามและคลื่นความรู้สึกที่ถาโถมเข้าใส่เอลซิสเช่นกัน
“เราก็เล่าชีวิตเราเป็นยังไงสมัยเด็ก ๆ ก็ระบายหลายอย่างว่า การที่ฉันเติบโตมาไม่มีพ่อเนี่ยมันลำบากขนาดไหน แต่เขาก็ยอมรับฟังทุกอย่าง แล้วเขาก็บอกว่าเอางี้ อย่าพยายามเล่าความหลังเลย ให้ชีวิตพวกเราอ่ะ move forward เขาก็เริ่มจากตรงนั้นแหละ เขาก็ช่วยดูแลลูกในเรื่องการศึกษาค่าใช้จ่าย พี่ก็ลำบากอยู่จุดนึงในชีวิต แต่พอเขาเข้ามาเขาก็มาช่วยดูแลหลายอย่างในสิ่งที่ขาดหายไป แล้วเขาก็ยอมรับเรา เขาก็รู้นะ เขาบอกว่าฉันรู้นะตอนที่ยูเกิดฉันก็ติดต่อกับแม่ยูอยู่ แต่อยู่เฉย ๆ ก็ขาดการติดต่อไป โดยที่ไม่รู้สาเหตุ แล้วตัวเขาเองนี่ก็ไม่รู้ว่าจะตามหาเรายังไง”
และ 44 ปีที่รอคอยอ้อมกอดแรกของพ่อของเอลซิสก็มาถึง เขาเล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงวันแรกที่ได้เจอพ่อของเขาว่า
“ตอนที่เจอพ่อครั้งแรกหลังจากเฟสไทม์แล้วนี่ คุยกัน 3 เดือน แกว่าจะมาวันเกิดหลาน สนุกดี ตื่นเต้นมาก ก็ไม่อยากเชื่อในชีวิตหลังจาก 44 ปีได้สัมผัส .. คือเราก็ไม่ใช่เด็กอะนะ ที่จะมาแบบ Yay! Daddy! ก็ไม่ เราก็จับมือกอดกันธรรมดา “Good to see you man, finally.” ก็ประมาณนั้นไม่มีอะไรมาก”
ท้ายที่สุดแล้ว เอสซิส ก็หมดคำถามที่ค้างคาใจมาตลอดชีวิตของเขา
“พี่รู้สึกโล่งไปเลยนะทั้งชีวิต เพราะว่าทั้งชีวิตพี่นี่ก็คือ สิ่งที่อยู่ในสมองของพี่อ่ะ เราเป็นลูกใคร ใครคือพ่อฉัน ฉันต้องรู้ให้ได้แค่นั้นเอง แต่แล้วพอมาถึงจุดจุดนี้พี่รู้สึกว่าจบล่ะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้จบตรงนั้นกันใช่ไหม เพราะพี่โตมากับ Pearl S. Buck มันก็ต้องมีการกระจายข่าวละคราวนี้ ถ้าฉันหาเจอพวกนายก็ต้องหาเจอเหมือนกัน”
ทั้งนี้ พ่อของเอสซิส โจนส์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งวีโอเอไทยเคารพการตัดสินใจดังกล่าว
เอลซิส โจนส์ ได้นำประสบการณ์ชีวิตของตัวเองไปช่วยเหลือลูกครึ่งไทยอเมริกันคนอื่น ๆ ในการตามหาพ่อที่เป็นอดีตทหารอเมริกันที่มาประจำการในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนสุดท้ายจะพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งลูกครึ่งไทยอเมริกัน ที่ใช้ชุดตรวจดีเอ็นเอ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือครั้งนี้ด้วย
- รายงานโดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ VOA Thai