“Omicron” กระตุ้นสมาชิกองค์การอนามัยโลกร่างสนธิสัญญารับมือโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป

This handout picture made available by the World Health Organization on Nov. 29, 2021 shows WHO Director-General Tedros Adhanom Ghebreyesus addressing the special session of the World Health Assembly in Geneva.

Your browser doesn’t support HTML5

Pandemic Treaty


ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกบรรลุความตกลงขั้นต้นที่จะเจรจารายละเอียดของสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อป้องกันและรับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไปในอนาคต

โดยในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังการรายงานเรื่องโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่วาระพิเศษขึ้นเมื่อวันจันทร์ หลังจากตัวแทนของประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันในร่างเนื้อหาของข้อตกลงระดับโลกที่จะนำมาใช้เพื่อรับมือและป้องกันโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป โดยความตกลงระหว่างประเทศซึ่งแม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่บางคนเรียกว่า “pandemic treaty” นี้นับเป็นการยินยอมผ่อนปรนระหว่างจุดยืนและข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ กับของฝ่ายสหรัฐฯ

ข้อตกลงระหว่างประเทศระดับโลกดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศทั้งหลายสามารถรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในลักษณะของโควิด-19 ได้ดีขึ้น เพราะสำหรับกรณีของโควิด-19 นั้นผู้เชี่ยวชาญได้เตือนหลายครั้งแล้วว่าจะไม่มีใครที่ปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย โดยข้อตกลงซึ่งกำลังมีการเจรจานี้มุ่งจะแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นบทเรียนจากโควิด-19 เช่น การปรับปรุงมาตรการป้องกันและการรับมือกับการระบาด การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับจีโนมของไวรัสที่กลายพันธุ์ รวมทั้งการแจกจ่ายวัคซีนและยาใหม่ๆ ซึ่งได้จากการวิจัยด้วย

นาย Simon Manley ตัวแทนของอังกฤษประจำสำนักงานขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวามีคำแถลงว่าการตัดสินใจที่จะจัดทำโครงสร้างและความตกลงระดับโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ที่ว่านี้แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแต่ก็เป็นเรื่องดีที่ประเทศสมาชิกได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสนับสนุนต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว อังกฤษ สหภาพยุโรปรวมทั้งประเทศอื่นๆ อีกราว 70 ประเทศต้องการให้มีการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สหรัฐฯ บราซิล กับอินเดียยังไม่เห็นด้วยเรื่องกลไกทางกฎหมายของข้อตกลง

อย่างไรก็ตามผู้ที่สนับสนุนการจัดทำสิ่งที่เรียกกันว่า ”สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่” หรือ pandemic treaty ชี้ว่ากลไกด้านกฎหมายระหว่างประเทศนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสองแล้วยังจะเป็นผลให้มีโครงสร้างระดับโลกเพื่อช่วยระบุภัยคุกคามด้านสาธารณสุขได้ด้วยการกำหนดให้แต่ละประเทศมีระบบเฝ้าระวังและติดตามโรคเพื่อระบุเชื้อที่กลายพันธุ์ รวมทั้งเพื่อรับประกันเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนและยาให้ได้ในระดับซึ่งเป็นที่ต้องการด้วย

แต่ถึงแม้ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกจะเห็นพ้องกันเรื่องความจำเป็นของการมีกลไกระดับโลกที่ว่านี้ก็ตามก็คาดว่าการเจรจารายละเอียดของข้อตกลงคงต้องใช้เวลาหลายปีและเชื่อว่าจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีการเจรจาข้อตกลงเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมปี 2024

ถึงกระนั้นก็ตามนักการทูตซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกประเทศหนึ่งขององค์การอนามัยโลกก็ให้ความเห็นว่าการบรรลุฉันทามติในขั้นต้นเกี่ยวกับแผนระดับโลกเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคตนี้นับเป็นเรื่องที่ดีซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของประชาคมโลกที่จะทำงานร่วมกัน


ที่มา: Reuters