'อนามัยโลก-ฮิวแมนไรท์วอทช์' เตือนเรื่องมาตรการรับมือโคโรนาไวรัสกับเสรีภาพส่วนบุคคล

A billboard is installed on an apartment building in Cape Town, South Africa, Wednesday, March 25, 2020, before the country of 57 million people, will go into a nationwide lockdown for 21 days from Thursday to fight the spread of the new coronavirus.

Your browser doesn’t support HTML5

WHO and S. Korea Model


ขณะที่ยุโรปและอเมริกากำลังเป็นศูนย์กลางการระบาดของโคโรนาไวรัสต่อจากเอเชีย และมีหลายประเทศที่ใช้ตัวอย่างจากจีนดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อรับมือกับโคโรนาไวรัส เช่น การปิดธุรกิจ การกำหนดให้คนทำงานจากบ้าน จำกัดการติดต่อทางสังคม จนถึงการปิดบางพื้นที่

นายไมค์ ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ได้เตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า มาตรการล็อคดาวน์ หรือการปิดพื้นที่จำกัดการเคลื่อนไหวแต่เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถเอาชนะไวรัสนี้ได้

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า สิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ต้องทำอย่างแท้จริงคือการใช้มาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การระบุผู้ติดเชื้อ การแยกผู้ป่วย การสืบหาผู้ที่ได้ติดต่อสัมผัสเพื่อการกักตัวเองเสริมไปด้วย เพราะถ้าไม่มีมาตรการเหล่านี้ควบคู่กันไปอย่างจริงจัง เมื่อคำสั่งปิดพื้นที่ห้ามเดินทางหมดอายุลง เชื้อไวรัสก็จะกลับมาระบาดได้ตามเดิม

นอกจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งองค์การอนามัยโลกแล้ว วิลเลียม แกลโล ผู้สื่อข่าววีโอเอในเกาหลีใต้ ก็รายงานว่า เหตุผลสำคัญสำหรับความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการควบคุมโคโรนาไวรัสอย่างได้ผล อยู่ที่นโยบายการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วและจริงจัง การแจ้งเตือนสาธารณชนผ่านระบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในชุมชน เส้นทางที่บุคคลดังกล่าวเคยผ่านไป การระบุกลุ่มผู้ติดเชื้อและกลุ่มที่ต้องสงสัย รวมทั้ง การมีระบบสาธารณสุขระดับชาติที่มีประสิทธิภาพและไม่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วย

การที่เกาหลีใต้สามารถทำเรื่องนี้ได้ นอกจากเพราะมีประชากรเพียงราว 51 ล้านคน และกว่าครึ่งของประชากรดังกล่าวยังอาศัยอยู่ในเขตมหานครกรุงโซลแล้ว กฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวของเกาหลีใต้ได้ถูกปรับแก้หลังการระบาดของโรค MERS เมื่อห้าปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้

รวมทั้งเกาหลีใต้ยังมีระบบทะเบียนระดับชาติที่ผู้ใช้โทรศัพท์ทุกคนจะต้องเปิดเผยชื่อจริงและเลขประจำตัว ซึ่งเรื่องนี้ก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการสามารถติดตามผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลเกาหลีใต้นำมาใช้จากปัจจัยเฉพาะที่มีอยู่ในสังคม จะได้รับคำชมเชยว่าอาจเป็นตัวแบบซึ่งประเทศอื่นสามารถนำไปใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส โดยไม่จำเป็นต้องปิดธุรกิจทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักหรือต้องจำกัดการเดินทางเคลื่อนไหวของประชาชนในวงกว้างก็ตาม

แต่กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch ก็แสดงความกังวล โดยนายเคนเนท ร็อธ ผู้อำนวยการบริหารของ Human Rights Watch กล่าวว่า หน่วยงานของตนเป็นห่วงว่า ประเทศต่าง ๆ ที่นำตัวแบบของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปใช้ อาจใช้ประโยชน์จากภัยคุกคามด้านสาธารณสุขนี้เพื่อขยายอำนาจของรัฐในการติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลในระยะยาวได้

โดยผู้อำนวยการบริหารของ Human Rights Watch ได้เรียกร้องว่า ระดับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนควรจะลดลงเมื่อภัยคุกคามด้านสุขภาพนี้หมดไป และว่าประเทศต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำสั่งจำกัดการเคลื่อนไหวและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลในวงกว้าง โดยเลือกใช้มาตรการดังกล่าวเฉพาะเมื่อมีเหตุผลทางการแพทย์ตามที่จำเป็นเท่านั้น