สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า ผลการศึกษาร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและจีน ชี้ว่า ต้นตอของโควิด-19 นั้น น่าจะมาจากไวรัสที่มีอยู่ในค้างคาวแพร่ไปสู่สัตว์ก่อนจะมาติดสู่คน มากกว่าข้อสังเกตการณ์ว่า เป็นไวรัสที่หลุดรอดออกมาจากห้องทดลอง ขณะที่ ผู้บริหารองค์การอนามัยโลก ออกมายืนยันว่า ที่มาของวิกฤตสาธารณสุขนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ชัดเจนในเวลานี้
รายงานข่าวที่อ้างอิงจากร่างผลการศึกษาที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า “เป็นข้อมูลที่หลุดออกมา” ไม่ได้ให้รายละเอียดมากเท่าใด เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของตัวไวรัส รวมทั้งคำถามอีกหลายข้อ แต่ชี้ว่า จะมีการศึกษาความน่าจะเป็นต่างๆ เพิ่มเติม ยกเว้นสมมติฐานว่า การระบาดครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ไวรัสหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และหลายๆ คนนำเสนอมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
นายแพทย์ แอนโธนี เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ตนต้องการจะเห็นข้อมูลดิบที่ใช้ในการทำรายงานที่ว่านี้ ก่อนจะตัดสินว่า การวิจัยดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด
รายงานข่าวระบุว่า การศึกษาร่วมชิ้นนี้ที่ถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิด น่าจะได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะในวันอังคาร และคาดว่าจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีป้องกันภาวการณ์ระบาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคตใด แม้ว่าอาจจะทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่พอใจ เนื่องจากเป็นการชี้ว่า ประเทศจีนคือต้นตอของวิกฤตครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส กล่าวว่า แม้จะมีการเปิดเผยรายงานฉบับนี้ออกมาบ้าง ทุกฝ่ายควรพึงระลึกว่า การศึกษาที่มาและวิถีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นยังคงดำเนินอยู่ และยังมีการพิจารณาทุกทฤษฎีอยู่ด้วย
ในระหว่างการแถลงข่าวที่นครเจนีวา เกเบรเยซุส ยอมรับว่า ตนได้เห็นรายงานดังกล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์เช่นกัน และจะมีการเสนอรายงานนี้ต่อทีมงานผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นทางการในวันอังคาร
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกส่งทีมนักวิจัยนานาชาติไปยังประเทศจีนเมื่อต้นปี เพื่อศึกษาหาต้นตอของไวรัส แต่มีผู้ออกมาวิจารณ์ว่า การศึกษาประเด็นนี้ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งที่จีนอนุญาตให้เข้าถึงเท่านั้น
ข้อมูลล่าสุดจาก มหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอพกินส์ ระบุว่า ในเวลานี้ ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่ที่กว่า 127 ล้านคนแล้ว ขณะที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั่วโลกกว่า 2.78 ล้านคน