องค์การอนามัยโลก เผยการศึกษาที่พบว่า 30% โคโรนาไวรัส โควิด-19 มีสัญญาณของการกลายพันธุ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไวรัสจะทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมตั้งเป้าอีก 2 สัปดาห์ ได้เห็นผลการทดสอบยารักษาโควิด-19
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) เปิดเผยการศึกษาเมื่อวันศุกร์ ระบุว่า ราว 1 ใน 3 ของตัวอย่างไวรัสโควิด-19 ราว 6 หมื่นตัวอย่างที่เก็บข้อมูลมามีการกลายพันธุ์จริง แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวจะทำให้เชื้อมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ด้าน ดร. มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลก เพิ่มเติมว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์ถูกค้นพบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรปและอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้นแต่อย่างใด
การให้ข้อมูลของอนามัยโลก เมื่อวันศุกร์ มีขึ้นหลังจากทีมวิจัย Scripps Research ค้นพบว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ในชื่อ D614G พบในฐานข้อมูลไวรัสราว 65% ทั่วโลก และไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่เซลล์ได้มากกว่า ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าทำไมการระบาดหนักในอิตาลีและนิวยอร์ก จึงมากกว่าในช่วงแรกเริ่มของการระบาดเมื่อต้นปี
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี นพ. แอนโธนี เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โควิด-19 อาจกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น
คาดอีก 2 สัปดาห์ได้เห็นผลทดสอบยารักษาโควิด-19
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดนอม เกเบรเยซุส ได้กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่าผลการทดสอบยารักษาโควิด-19 ครั้งแรกของอนามัยโลก จะได้เห็นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ตามรายงานของรอยเตอร์
โดยการทดสอบดังกล่าว จะเฟ้นหาหนทางรักษาโคโรนาไวรัส โควิด-19 ที่เริ่มทดสอบกับคนไข้ 5,500 รายใน 39 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่การใช้ยาเรมเดสซีเวียร์ (remdesivir) ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรียที่ผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวถึงมาโดยตลอด และกลุ่มยารักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี โลพินาเวียร์ หรือ รีโตนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir)
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก ยุติการทดสอบยากลุ่มไฮดรอกซีคลอโรควิน หลังผลการศึกษาหลายชิ้นต่างระบุว่าไม่ให้ผลในการรักษาโควิด-19 แต่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่ายากลุ่มนี้จะได้ผลในการเป็นยาป้องกันโควิด-19 หรือไม่
ด้านนายไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลก ได้บอกว่า ตอนนี้มีวัคซีน 18 ชนิดทั่วโลกที่เริ่มทดสอบในมนุษย์ ซึ่งอาจต้องรอไปถึงสิ้นปีถึงจะได้เห็นประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนักที่จะมาคาดเดาว่าวัคซีนโควิดจะผลิตได้เมื่อไหร่ จากที่ตอนนี้โคโรนาไวรัสได้คร่าชีวิตผู้คนเกินกว่าครึ่งล้านไปแล้ว
หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลก เรียกร้องให้นานาประเทศหาทางระบุพิกัดการระบาดใหม่ให้ได้เร็วที่สุด และเร่งติดตามผู้ติดเชื้อพร้อมทั้งกักตัวเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19