การโจมตีโดยอิสราเอลในพื้นที่กาซ่า ที่สังหารประชาชนไปมากกว่า 33,000 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการบรรเทาทุกข์ กลายเป็นแรงกดดันต่อสหรัฐฯ ในฐานะผู้ขายอาวุธให้รัฐบาลเทลอาวีฟ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีสัญญาณว่าจะนำเรื่องการสนับสนุนทางทหารมาเป็นเงื่อนไขต่อรองกับอิสราเอลแต่อย่างใด
กระแสกดดันเรื่องการสนับสนุนอิสราเอลของรัฐบาลไบเดน เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้หลังเจ้าหน้าที่องค์กรด้านอาหาร World Central Kitchen (WCK) จำนวนเจ็ดราย เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอลเมื่อวันจันทร์ โดยหนึ่งในผู้ถูกสังหาร เป็นเจ้าหน้าที่ถือสัญชาติสหรัฐฯ และแคนาดา
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการทหารรายใหญ่ของอิสราเอล ยังคงไม่มีทีท่าที่จะใช้การช่วยเหลือเป็นเงื่อนไขให้อิสราเอลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
จอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารกิจการความมั่นคงของทำเนียบขาว กล่าวว่า “เรายังคงสนับสนุนสิทธิการป้องกันตนเองของพวกเขา (อิสราเอล) และเราจะยังทำเช่นนั้นต่อไป” และกล่าวด้วยว่าจะดูผลการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะไม่กล่าวเกินเลยไปกว่าอะไรก็ตามที่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ
Your browser doesn’t support HTML5
อิสราเอลเป็นผู้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ปีละเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.47 แสนล้านบาท) โดยส่วนมากเป็นการสนับสนุนทางทหาร ทำให้อิสราเอลเป็นประเทศที่รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกรุงวอชิงตันรายใหญ่ที่สุด
ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ รัฐบาลต้องแจ้งให้สภาคองเกรสทราบ ในกรณีที่มีการส่งอาวุธให้อิสราเอลในมูลค่ามากกว่า 25 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เหตุโจมตีโดยกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม สภาคองเกรสได้รับแจ้งข้อมูลการส่งอาวุธแล้วเป็นจำนวน 4 ครั้ง อ้างอิงจากจอช พอล อดีตผู้อำนวยการหน่วยที่มีหน้าที่ดูแลการจัดส่งอาวุธภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
พอล ซึ่งลาออกเมื่อเดือนตุลาคมเพื่อประท้วงการจัดส่งอาวุธหนักให้อิสราเอล แจกแจงว่าการจัดส่งอาวุธ 4 ครั้งนั้น มี 2 ครั้งที่ทำภายใต้ระบบการขายอาวุธให้ต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อลัดขั้นตอนเรื่องกรอบเวลาการแจ้งแก่สภาคองเกรส และอีก 2 ครั้งที่เหลือก็กระทำผ่านขั้นตอนเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยแก่รัฐสภาน้อยกว่า
ก่อนหน้านี้ สื่อวอชิงตันโพสท์รายงานว่า มีการจัดส่งอาวุธให้อิสราเอลไปแล้วมากกว่า 100 ครั้งโดยไม่แจ้งสภาคองเกรส เนื่องจากการจัดส่งแต่ละชุดนั้นถูกทำให้มีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ 25 ล้านดอลลาร์
แหล่งข่าวรายหนึ่งจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ข้อมูลกับ VOA โดยไม่ประสงค์ให้ออกนาม ยืนยันว่ารายงานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง
อารี โทลานี ผู้อำนวยการโครงการสังเกตการณ์ความช่วยเหลือด้านความมั่นคง จากศูนย์ Center for International Policy กล่าวกับ VOA ว่า “เมื่อเขา (สหรัฐฯ) พูดในที่แจ้งว่าอิสราเอลต้องยกระดับการปกป้องชีวิตพลเรือนมากขึ้น แต่กลับส่งอาวุธมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้ในที่ลับ (จึงถือว่า) ไม่มีความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง”
นับตั้งแต่ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน รับรองการก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อปี 1948 สหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนอิสราเอลในแบบที่แทบจะไม่มีเงื่อนไข ยกเว้นเพียงครั้งเดียวในปี 1991 ที่ ปธน.จอร์จ บุช ยื่นคำขาดให้อิสราเอลระงับการเข้าตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชาวปาเลสไตน์ แลกกับการให้กู้เงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์
แกรนท์ รัมลีย์ จากสถาบัน Washington Institute for Near East Policy กล่าวว่า “ประเด็นที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกอย่างเช่นการมอบเครื่องมือในการป้องกันตนเองให้ประเทศหนึ่ง ๆ สามารถนำมาซึ่งการตอบรับที่ต่างกันในต่างเงื่อนไข” และกล่าวด้วยว่า สำหรับรัฐบาลไบเดนที่สนับสนุนอิสราเอลมาอย่างยาวนาน ก็คงไม่มีการตัดสินใจจะใช้การช่วยเหลือทางทหารมาเป็นเงื่อนไขต่อรองกับอิสราเอล
ปธน. โจ ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์ในวันอังคารว่าเขา “โกรธและใจสลาย” จากการเสียชีวิตของ 7 เจ้าหน้าที่องค์กร World Central Kitchen แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากสื่อมวลชนหลายข้อ รวมถึงคำถามที่ว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะนำการช่วยเหลือทางทหารมาต่อรองอะไรกับอิสราเอลหรือไม่
- ที่มา: วีโอเอ