Your browser doesn’t support HTML5
ทีมวิจัยจากสกอตแลนด์ค้นพบการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตข้างเคียงของวิสกี้ ซึ่งนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพให้กับรถยนต์ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เพื่อรองรับเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่นี้ด้วย
Celtic Renewables บริษัทด้านพลังงานทดแทนใน Edinburgh ของสกอตแลนด์ นำกรรมวิธีการหมักวิสกี้แบบเก่ามากลั่นเชื้อเพลิงจากของเหลือเหล่านี้ จนได้เป็น Biobutanol เชื้อเพลิงชีวภาพของเหลวใสไร้สี ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทั่วไปได้ทันที
คุณมาร์ติน แทงนีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Celtic Renewables บอกว่า เชื้อเพลิง Biobutanol ที่ผ่านการหมักด้วยวิธีเก่าแก่นับร้อยปีนั้น เหมาะกับการทดสอบกับรถยนต์ยี่ห้อ ฟอร์ด เพราะในอดีตรถรุ่นแรกของบริษัท ฟอร์ด ซึ่งก็คือ Model T ซึ่งสามารถใช้เชื้อเพลิง biofuel ได้
Biobutanol สามารถผสมกับน้ำมันเบนซินได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซนต์ โดยที่ไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ อีกทั้งยังทำให้เครื่องยนต์สึกหรอได้น้อยกว่าเชื้อเพลิงที่ผสมเอธานอลเสียอีก
คุณมาร์ติน ยังบอกอีกว่า นี่คือเป็นโอกาสทองในการผลิตเชื้อเพลิงจากของเหลือในการผลิตวิสกี้ และจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตอนนี้ทุกๆปี อุตสาหกรรมวิสกี้ในสกอตแลนด์ เสียค่าใช้จ่ายมากถึง 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13 ล้าน 6 แสนบาท เพื่อกำจัดเปลือกข้าวบาร์เลย์ 8 แสน 2 หมื่น 7 พันตัน และของเหลวจากการกลั่นวิสกี้อีก 2 พันล้านลิตร
ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสกอตแลนด์ บริษัท Celtic Renewables วางแผนที่จะเปิดโรงงานในปีหน้า และเดินเครื่องกำลังการผลิต Biobutanol 5 แสนลิตรต่อปี
และน่าจะเป็นโอกาสที่สดใสของพลังงานทดแทนในประเทศ จากศักยภาพของอุตสาหกรรมวิสกี้ในสกอตแลนด์ ที่สามารถสร้างวัตถุดิบสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ได้มากขึ้นอีก 100 เท่าตัวทีเดียว