ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ขีดเส้นเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ที่นักวิเคราะห์มองว่าเปิดกว้างต่อการตีความ ลดเพดานต่ำลง และส่งสัญญาณไปยังประเทศที่กำลังช่วยเหลือยูเครนถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนครั้งใหม่
ผู้นำแห่งรัสเซียระบุว่า รัฐบาลมอสโกจะพิจารณาการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอนุญาตให้ยูเครนใช้จรวดพิสัยไกลที่มอบให้ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ตามการเปิดเผยของรัฐบาลเครมลินในวันพฤหัสบดี
เมื่อวันพุธ ปูตินประกาศระหว่างการประชุมสภาความมั่นคง และกล่าวถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของสิ่งที่เรียกว่า ‘หลักนิยมนิวเคลียร์’ หรือ nuclear doctrine ให้มีใจความว่า การที่ชาติที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์โจมตีรัสเซียโดยมี “ความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากชาติอำนาจนิวเคลียร์” จะถึอว่าสิ่งนี้เป็นการ “ร่วมกันโจมตีสหพันธรัฐรัสเซีย”
ปูตินยังเน้นย้ำด้วยว่ารัสเซียสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีในลักษณะสงครามร่วมสมัย ที่ก่อ “ภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยของพวกเรา” รวมถึงการโจมตีขนานใหญ่ทางอากาศด้วย ซึ่งสำนักข่าวเอพีระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่คลุมเครือและเปิดกว้างต่อการตีความ
ท่าทีของปูตินถือเป็นสัญญาณที่ส่งไปยังสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่กำลังสนับสนุนยูเครนในการป้องกันการโจมตีของรัสเซีย และในตอนนี้กองกำลังของกรุงเคียฟก็กำลังเปิดปฏิบัติการรุกกลับเข้าไปในพื้นที่ของคู่สงคราม
ชาติตะวันตกยังคงมีคำถามถึงความจริงจังของปูตินต่อสิ่งที่ประกาศออกมา ซึ่งจะส่งผลถึงทิศทางของสงครามครั้งนี้ ในแง่ที่ว่าหากเป็นการข่มขู่ ชาติตะวันตกก็อาจจะมั่นใจที่จะสนับสนุนยูเครนมากยิ่งขึ้น
แต่หากว่าปูตินเชื่อมั่น และมีความจริงจังกับคำประกาศดังกล่าว ก็จะเปิดเงื่อนไขไปสู่การขยายปมของสงคราม ที่อาจลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลมอสโกพยายามเน้นย้ำ และรัฐบาลกรุงวอชิงตันก็รับรู้
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างออกมาประณามท่าทีของปูตินว่า “ไร้ความรับผิดชอบ”
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับสื่อ MSNBC ว่า ปูตินแสดงออกอย่างไร้ความรับผิดชอบและผิดเวลา และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำรายนี้ หยิบ “ดาบนิวเคลียร์” มาอวดเบ่ง
รอยเตอร์รายงานการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายราย เช่น อันเดรียส อุมแลนด์ จากสถาบันการต่างประเทศแห่งสวีเดน ที่กล่าวว่าปูตินกำลังเล่นเกมจิตวิทยา เพื่อ “ทำให้เหล่าผู้นำประเทศและฐานเสียงในประเทศที่สนับสนุนยูเครนหวาดกลัว”
ฟาเบียน ฮอฟฟ์มัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ วิเคราะห์ว่าคำขู่ของผู้นำรัสเซียนั้นควรค่ากับการกังวล แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป จนกว่ารัสเซียจะส่งสัญญาณการเตรียมใช้อาวุธจริง ๆ
ฮอฟฟ์มันอธิบายในโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ถึงสัญญาณดังกล่าว เช่น การเคลื่อนย้ายหัวรบนิวเคลียร์จากคลังแสง การเริ่มติดหัวรบเข้ากับพาหนะเพื่อการโจมตีเชิงยุทธวิธี รวมถึงการตระเตรียมไซโลและเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อรองรับการใช้นิวเคลียร์ขนานใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้คงไม่เล็ดรอดการจับสัญญาณของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวของปูตินมีขึ้นในเวลาที่ยูเครนโจมตีโต้กลับเข้าไปในดินแดนของรัสเซียด้วยจรวดและโดรน และประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ก็ร้องขอไปยังสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่องให้อนุมัติการใช้อาวุธพิสัยไกล เช่นจรวด ATACMS ของสหรัฐฯ และจรวด Storm Shadow ของอังกฤษ ยิงลึกเข้าไปในรัสเซีย
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยูเครนใช้อาวุธที่สหรัฐฯ มอบให้ ยิงข้ามแดนเข้าไปในรัสเซียเพื่อตอบโต้การโจมตีได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ยิงลึกเข้าไปตามคำร้องขอของยูเครน
เซเลนสกีพบกับไบเดนที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยไบเดนประกาศว่าจะสนับสนุนทางการทหารกับยูเครนเพิ่มเติมเป็นมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์
โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดิมิทรี เพสคอฟ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ท่าทีของปูตินเป็น “การส่งสัญญาณเตือนไปยังชาติเหล่านั้นถึงผลของการกระทำ ในแง่ของการมีส่วนร่วมในการโจมตีประเทศของเราด้วยหลายอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนิวเคลียร์”
ดิมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย เตือนว่าความเคลื่อนไหวจากปูตินอาจจะ “บรรเทาความร้อนแรงของเหล่าศัตรูนั้น (ยูเครนและพันธมิตร) ที่ยังคงไม่สูญเสียความคิดในการรักษาตัวรอด”
เยฟเกนี มินเชนโก ที่ปรึกษาทางการเมืองรัสเซีย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การเปลี่ยนหลักนิยมนิวเคลียร์ของปูตินในลักษณะนี้ เป็นข้อความที่ชัดเจนไปยังยูเครนและพันธมิตร ว่าไม่ให้ยกระดับสงครามลึกเข้าไปในแผ่นดินของรัสเซีย
มินเชนโกอธิบายว่า ข้อความนั้นคือ “หากคุณพยายามฆ่าเราด้วยมือของตัวแทน เราก็จะฆ่าทั้งตัวแทนและตัวคุณ”
- ที่มา: รอยเตอร์ เอพี