องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การระบาดของเชื้อ 'เอ็มพ็อกซ์' หรือที่เคยรู้จักในชื่อ 'ฝีดาษลิง' หรือ 'ฝีดาษวานร' ที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา คือ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลก ซึ่งเป็นคำเตือนที่บอกว่า ไวรัสนี้อาจแพร่กระจายข้ามแดนไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ในที่สุด
การประกาศดังกล่าวมีออกมา หลัง เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เสร็จสิ้นการประชุมฉุกเฉินเรื่องนี้ และเกือบสัปดาห์หลังจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของแอฟริกาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในทวีปแอฟริกาเมื่อวันอังคารที่แล้ว
WHO เปิดผยว่า พบผู้ติดเชื้อนี้แล้วกว่า 14,000 คนและมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 524 คนในแอฟริกาในปีนี้ โดยตัวเลขทั้งหมดนี้สูงกว่าสถิติของปีที่แล้วด้วย
เท่าที่ผ่านมา กว่า 96% ของทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมาจากประเทศ ๆ เดียว ซึ่งก็คือ คองโก และนักวิทยาศาสตร์ก็มีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ที่อาจติดต่อได้ง่ายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
'เอ็มพ็อกซ์' คืออะไร?
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อ 'เอ็มพ็อกซ์' หรือที่ 'ฝีดาษลิง' หรือ 'ฝีดาษวานร' เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1958 หลังเกิดการระบาดของโรคที่มี “ลักษณะคล้ายฝีดาษ” ในฝูงลิง โดยตั้งแต่นั้นมา การติดเชื้อไวรัสนี้ในคนเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในประชากรของภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกที่ใช้ชีวิตใกล้กับสัตว์ที่ติดเชื้อมาก่อน
ในปี 2022 มีการยืนยันเป็นครั้งแรกว่าไวรัสนี้แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธุ์ และทำเกิดการระบาดไปในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่ไม่เคยพบไวรัสดังกล่าวมาก่อน
ไวรัส 'เอ็มพ็อกซ์' เป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษแต่รุนแรงน้อยกว่า เพราะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการอ่อน ๆ เช่น รู้สึกมีไข้ หนาวสั้น หรือปวดตามตัว แต่ในกรณีของผู้ป่วยหนักก็อาจมีผื่นหรือตุ่มเกิดขึ้นบนใบหน้า มือ หน้าอก หรืออวัยวะเพศ ได้
เกิดอะไรขึ้นที่แอฟริกาจนทำให้เกิดความกังวลหนักเช่นนี้?
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” พุ่งสูงอย่างมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ศูนย์ CDC ของแอฟริการายงานว่า มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อนี้อย่างน้อยใน 13 ประเทศในทวีปแอฟริกา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในปีนี้พุ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 160% ขณะที่ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 19%
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รายงานการตรวจพบเชื้อไวรัส “เอ็มพ็อกซ์” แบบใหม่ที่เมืองซึ่งมีชื่อด้านการทำเหมืองแห่งหนึ่งในประเทศคองโก โดยไวรัสนี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ถึง 10% และอาจแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไวรัสเวอร์ชั่นก่อนด้วย
และสิ่งที่ทำให้การระบาดครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ ก็คือ การเกิดผื่นหรือตุ่มนั้นขยายจากหน้าอก มือและเท้าไปยังบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งยังทำให้เกิดอาการป่วยอ่อน ๆ ด้วย
ด้วยเหตุนี้เองทำให้การตรวจสอบการติดเชื้อเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ตามความเห็นของนายแพทย์พลาซีด เอ็มบาลา-คินเกเบนิ นักวิจัยชาวคองโกที่เป็นผู้นำการศึกษารูปแบบใหม่ของ “เอ็มพ็อกซ์”
WHO กล่าวด้วยว่า เพิ่งมีการตรวจพบ “เอ็มพ็อกซ์” เป็นครั้งแรกเมื่อเร็ว ๆ นี้ใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ บุรุนดี เคนยา รวันดาและยูกันดา โดยการระบาดในประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในคองโกด้วย ขณะที่ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีความกังวลกันแล้วว่า โรคนี้จะแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาและทวีปอื่น ๆ ต่อไป
และที่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์และแอฟริกาใต้ ทางการสาธารณสุขรายงานการระบาดของเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” เวอร์ชั่นที่ต่างกันและมีอันตรายน้อยกว่าซึ่งเคยระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี 2022 และทำให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 100,000 คน
ส่วนอื่น ๆ ของโลกต้องระวังภัยอย่างไรบ้าง?
เช่นเดียวกับภาวะระบาดอื่น ๆ เชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” ที่ตรวจพบเจอในคองโกอาจแพร่ข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่นได้ไม่ยาก ดังที่มีรายงานการตรวจพบในประเทศแอฟริกาตะวันออก 4 ประเทศไปแล้ว
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานสาธารณสุขของสวีเดนเพิ่งยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” สายพันธุ์ใหม่รายแรกซึ่งเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางไปแอฟริกาเมื่อไม่นานมานี้
ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมนั้นยังถือว่า “ต่ำมาก” แม้จะมีการคาดว่า จะเกิดการระบาดแบบประปรายในประเทศอื่น ๆ ตามมาก็ตาม
ทั้งนี้ แคว้นคามิตูกาของคองโกซึ่งเป็นจุดที่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นที่แรก คือจุดผ่านการเดินทางที่สำคัญของผู้คนทั้งในแอฟริกาและจากจุดต่าง ๆ ทั่วโลก
แต่เมื่อพิจารณาทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศร่ำรวยต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้สกัดการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะมีการหยุดการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการตรวจพบการระบาดของเชื้อจากคองโก
ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” ไม่ได้แพร่กระจายทางอากาศเหมือนกับกรณีของโควิด-19 หรือโรคหัด ทั้งยังต้องเป็นกรณีการสัมผัสทางผิวหนังแบบใกล้ชิดถึงจะแพร่ระบาดได้ด้วย
การประกาศภาวะฉุกเฉินส่งสารอะไรออกมา?
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกนั้นมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศต่าง ๆ ลงมือดำเนินการทั้งหลาย
นายแพทย์ฌอง คาเซยา ผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์ CDC ของแอฟริกา กล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้มุ่งหวังให้มีการ “ผลักดันองค์กรสถาบันต่าง ๆ และการทำงานร่วมกันของพวกเรา และทรัพยากรของเราให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” พร้อมเรียกร้องให้หุ้นส่วนระหว่างประเทศของแอฟริกายื่นมือมาช่วยด้วย โดยระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในแอฟริกานั้นเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามอย่างมาก
ส่วนแพทย์หญิงโบกูมา ติตันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยเอมอรี กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับ “เอ็มพ็อกซ์” ในครั้งก่อนของ WHO “แทบไม่ได้ช่วยผลักดันการดำเนินการใด ๆ เลย” ในการจัดหาสิ่งจำเป็นเช่น ชุดตรวจอาการ ยารักษาและวัคซีน ให้กับแอฟริกา
การระบาดในแอฟริกาครั้งนี้ต่างจากการระบาดในปี 2022 อย่างไร?
ในการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” เมื่อปี 2022 ชายรักเพศเดียวกันและชายที่มีเพศสัมพันธ์กับทั้งชายและหญิงคือ คนส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อ โดยการระบาดนั้นเกิดขึ้นจากการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมความถึงการมีเพศสัมพันธุ์ด้วย
แต่ในครั้งนี้ แม้รูปแบบการระบาดในแอฟริกาจะคล้าย ๆ กับคราวที่แล้ว เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีกลับคิดเป็นกว่า 70% ของผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” และราว 85% ของผู้เสียชีวิต
เกรก แรมน์ ผู้อำนวยการองค์กร Save the Children's Congo กล่าวว่า ทางองค์กรมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ภาคตะวันออกของคองโก โดยระบุว่า มีเด็กอยู่ถึง 345,000 คนที่ “แออัดยัดเยียดกันอยู่ในเต็นท์ที่มีสภาพไม่ถูกสุขอนามัย” พร้อมกล่าวด้วยว่า ระบบดูแลสุขภาพของคองโกเองก็ “ล้มสลาย” ไปแล้ว เพราะภาวะทุพโภชนาการ โรคหัดและอหิวาตกโรค
ส่วนแพทย์หญิงโบกูมา ติตันจิ จากมหาวิทยาลัยเอมอรี กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมเด็ก ๆ ถึงกลายเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” หนักกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในคองโก โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ว่า เด็ก ๆ อยู่ในภาวะที่รับเชื้อได้ง่ายกว่าจากปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่ที่หนาแน่นแออัดและการมีผู้ปกครองที่ติดเชื้อมา เป็นต้น
จะหยุดยั้งการระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ได้อย่างไร?
การระบาดของ “เอ็มพ็อกซ์” ในปี 2022 ในหลายสิบประเทศนั้นยุติลงด้วยการแจกจ่ายวัคซีนและการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในประเทศร่ำรวย รวมทั้ง ความพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย
แต่ในครั้งนี้ ยังไม่มีวี่แววของวัคซีนหรือยารักษาใดในแอฟริกาเลย
ผู้เชี่ยวชาญจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมถึง การฉีดยาป้องกันไข้ทรพิษและไวรัสอื่น ๆ นั้นจะช่วยหยุดยั้งการระบาดได้ พร้อมชี้ว่า ต้องมีการจัดหาวัคซีนปริมาณมาก ๆ เพื่อจะใช้ในการฉีดใส่ประชากรที่มีความเสี่ยงมากที่สุดซึ่งก็คือ ผู้ขายบริการทางเพศ เด็กและผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีการระบาด
คริส คาซิตา โอซาโก ผู้ประสานงานของคณะกรรมการรับมือ “เอ็มพ็อกซ์” ของคองโก กล่าวว่า ทางการคองโกได้ทำเรื่องของวัคซีน 4 ล้านโดสที่จะฉีดให้กับเด็ก ๆ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับมาเลย
- ที่มา: เอพี