ย้อนดูปูมหลังรัฐประหารซูดาน 

Military deployed in Khartoum, Sudan, following coup

เมื่อวันจันทร์ คณะรัฐมนตรีและแกนนำพรรครัฐบาลจำนวนมากถูกควบคุมตัวหลังการก่อรัฐประหารหลังเกิดความตึงเครียดระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือนมาหลายสัปดาห์ สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมเรื่องราวเบื้องหลังและที่มาของการก่อรัฐประหารครั้งนี้

ใครถืออำนาจในซูดาน?

ซูดานเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยหลังการประท้วงครั้งใหญ่ขับไล่ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บะเชียร์ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 โดยเขาเป็นผู้นำสายเคร่งศาสนาที่ปกครองประเทศมาเกือบ 30 ปี

ข้อตกลงเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 ระบุว่า กองทัพจะแบ่งอำนาจปกครองกับเจ้าหน้าที่รัฐที่แต่งตั้งโดยกลุ่มการเมืองพลเมืองภายใต้โครงสร้าง “คณะมนตรีเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” (Sovereign Council) เพื่อปกครองประเทศจนถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสิ้นปีค.ศ. 2023


เคยมีความตึงเครียดก่อนหน้านี้หรือไม่?

แม้บทบาทของกองทัพในการเมืองซูดานส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงพิธีการ แต่ประชาชนก็วิจารณ์เป็นระยะว่ากองทัพล้ำเส้นด้านนโยบายต่างประเทศและการเจรจาสันติภาพมากเกินไป

กองทัพซูดานกล่าวหาพรรคการเมืองพลเรือนว่ารวบอำนาจและจัดการผิดพลาด และมีกลุ่มกบฎและพรรคการเมืองส่วนหนึ่งร่วมมือกับกองทัพเพื่อหาทางโค่นอำนาจของคณะรัฐมนตรีพลเรือน

เมื่อเดือนกันยายน รัฐบาลซูดานระบุว่าสามารถขัดขวางแผนก่อรัฐประหารได้ โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีอัล-บะเชียร์ อยู่เบื้องหลังแผนดังกล่าว

ความขัดแย้งมาจากสาเหตุใด?

ความขัดแย้งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการเดินหน้าหาความเป็นธรรมต่อการก่ออาชญากรรมสงครามโดยกองทัพและพันธมิตรในเหตุการณ์สงครามดารเ์ฟอร์เมื่อปีค.ศ. 2003 ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังหาทางพิจารณาคดีนายอัล-บะเชียร์และผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้ขึ้นศาลดังกล่าวแล้ว แต่สภาอธิปไตยยังไม่อนุมัติ

อีกกรณีหนึ่งคือ การสืบสวนเหตุสังหารผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.2019 ซึ่งกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยนักเคลื่อนไหวและกลุ่มพลเรือนไม่พอใจที่ผลการสืบสวนยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะเสียที

ประชาชนยังเรียกร้องให้มีการควบคุมและปรับโครงสร้างกองทัพ โดยเฉพาะการบูรณาการกองกำลังสนับสนุนเร่งด่วน (Rapid Support Forces) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากของกองทัพ อย่างไรก็ตาม ผู้นำกองทัพปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว

Sudan protesters


เศรษฐกิจของซูดานเป็นอย่างไร?

นายอัล-บะเชียร์ถูกโค่นอำนาจส่วนหนึ่งเพราะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่ลง ทำให้ค่าเงินลดอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาหาร โดยเฉพาะขนมปัง

ต่อมา รัฐบาลเปลี่ยนผ่านทำการปฏิรูปอย่างรวดเร็วภายใต้การดูแลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อผ่อนคลายหนี้และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ผลของการปฏิรูปครั้งนี้ทำให้เงินเฟ้อสูงกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ จนเกิดการประท้วงด้านเศรษฐกิจเป็นระยะ


ซูดานมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร?

ซูดานอยู่ในภูมิภาคที่ไม่มั่นคงนัก ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอธิโอเปีย ชาด และเซาท์ซูดานต่างได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ความขัดแย้งในภูมิภาคไทเกรย์ของเอธิโอเปียผลักดันให้ประชาชนหลายหมื่นคนลี้ภัยมายังทางตะวันออกของซูดาน ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทหารในพื้นที่เกษตรกรรมตามชายแดน

ซูดานกับอียิปต์กำลังผลักดันข้อตกลงควบคุมเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่เอธิโอเปียสร้างใกล้ชายแดนซูดาน แม้การเจรจาจะยังไม่คืบหน้า แต่เอเธิโอเปียเริ่มปล่อยน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำหลังเขื่อน โดยซูดานระบุว่า การปล่อยน้ำนี้อาจทำให้ชาวซูดาน เขื่อน และสิ่งก่อสร้างทางน้ำของซูดานตกอยู่ในความเสี่ยง