Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature แสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ความเครียดสามารถทำให้เส้นผมของคนเราเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีขาวได้
นักวิจัยค้นพบกระบวนการทางเคมีที่สามารถเปลี่ยนแปลงสีผมในช่วงเวลาที่เกิดความเครียดได้ กระบวนการนี้เชื่อมโยงกับปฏิกิริยาที่เรียกว่า "จะสู้หรือจะหนีดี" (fight-or-flight) ของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย
Ya-Chieh Hsu ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาฟื้นฟูสภาวะเสื่อมและสเต็มเซลล์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การศึกษาครั้งใหม่นี้เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างความเครียดและผมหงอก
นักวิจัยได้ทำการทดลองกับหนูเพื่อดูว่าความเครียดมีผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดในรูขุมขนได้อย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ปกติคนส่วนใหญ่มีรูขุมขนบนหนังศีรษะประมาณ 100,000 รูขุมขน ซึ่งมีหน้าที่สร้างเมลาโนไซต์ (melanocyte ) หรือเซลล์สร้างสีผม เมื่อคนเราอายุมากขึ้น การผลิตเมลาโนไซต์ก็จะลดลง จึงทำให้ผมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือหงอกตามธรรมชาติ โดยนักวิจัยคาดเดาว่าความเครียดอาจส่งผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดเมลาโนไซต์ดังกล่าวได้
อีกสมมติฐานหนึ่งชี้ว่า อาจจะเป็นฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเพิ่มขึ้นในร่างกายตลอดเวลาในขณะที่เกิดความเครียดก็อาจเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองล่าสุดระบุว่าสมมติฐานทั้งสองอย่างอาจจะผิด เพราะหนูที่ขาดเซลล์เมลาโนไซต์ หรือถูกตัดต่อมผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลทิ้งไป ก็ยังคงมีขนสีขาวและสีเทาแซมขึ้นมาอยู่ดี
นักวิจัยชุดนี้จึงใช้วิธีใหม่ด้วยการทดสอบระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยา “fight-or-flight” ในสภาวะคับขัน
ระบบประสาทซิมพาเทติกนี้ประกอบด้วยชุดของเส้นประสาทที่แผ่ขยายไปทั่วร่างกายรวมถึงผิวหนัง เมื่อหนูถูกทำให้ได้รับความเจ็บปวดในระยะสั้น หรืออยู่ในห้องทดลองที่มีสภาพตึงเครียด เส้นประสาทเหล่านี้จะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมา เรียกว่า norepinephrine ซึ่งจะไปกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ให้ผลิตเม็ดสีออกมามากขึ้น กระบวนการผลิตที่มากเกินไปนี้ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียเซลล์สร้างสีก่อนเวลาอันควร
ศาสตราจารย์ Ya-Chieh Hsu กล่าวว่าการทดลองนี้ยืนยันความเชื่อของนักวิจัยที่ว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย และการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าผลกระทบนี้ยังส่งผลในระยะยาว เพราะเมื่อเซลล์ต้นกำเนิดที่สร้างเม็ดสีทั้งหมดหายไป ก็จะไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้อีกเป็นการถาวร
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การวิจัยนี้อาจนำไปสู่การบำบัดรักษาแบบใหม่ในอนาคต รวมไปถึงการขยายผลของการศึกษาวิจัยเพื่อดูว่า ความเครียดส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในร่างกายซึ่งนำไปสู่กระบวนการชราภาพได้หรือไม่