นับตั้งแต่การล่มสลายของรัฐบาลประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาด มีการเปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับโรงงานระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสารเสพติดที่มีฤทธิ์คล้าย amphetamine และมีชื่อว่า Captagon โดยมีการพบโรงงานที่ว่าอยู่หลายจุดทั่วประเทศและผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะมีมูลค่าถึงราว 10,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดยาเสพติดโลก
จุดที่มีการพบโรงงานที่ว่า มีอาทิ ฐานทัพอากาศมัสเซห์ ในกรุงดามัสกัส บริษัทซื้อ-ขายรถยนต์ในเมืองลาทาเกีย และโรงงานที่เคยเป็นที่ผลิตขนมทานเล่นซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงดามัสกัส โดยรัฐบาลได้เข้ายึดโรงงานนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2018
ในช่วงเกือบ 14 ปีที่ผ่านมา ซีเรียตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่ทำลายประเทศเป็นเสี่ยง ๆ และทำให้เศรษฐกิจพังครืน ทั้งยังทำให้พื้นที่ทั้งประเทศกลายมาเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดด้วย ขณะที่ กลุ่มติดอาวุธ ผู้นำทางทหารของกลุ่มติดอาวุธและรัฐบาลอัซซาดทำให้สายการผลิต Captagon ที่เคยอยู่ในวงเล็ก ๆ และควบคุมโดยกลุ่มแก็งอาชญากรรม ให้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหมื่นล้านไป
Your browser doesn’t support HTML5
การโค่นอัซซาดลงจากตำแหน่งยังกลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายยาเสพติดนี้ต้องเกิดสะดุดและเปิดทางให้คนภายนอกได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสภาพเศรษฐกิจสงครามที่ทำให้อัซซาดอยู่ในอำนาจมาได้นาน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในซีเรียครั้งนี้อาจนำมาซึ่งโอกาสในการทลายอุตสาหกรรมยาเสพติด Captagon ก็เป็นได้
ซีเรียสร้างอาณาจักร Captagon ขึ้นมาได้อย่างไร
ยา Captagon นั้นถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในยุค 1960 ที่เยอรมนี ให้เป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์สำหรับรักษาอาการโรคลมหลับ (นอนหลับเรื้อรังมากผิดปกติ) ก่อนจะมีกฎหมายประกาศห้ามใช้เพราะถูกพบว่าทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและมีคุณสมบัติเป็นสารเสพติด
แต่คุณสมบัติที่เหมือนกับ amphetamine ของยานี้ทำให้ Captagon กลายมาเป็นที่นิยมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นสูงและนักชกทั้งหลาย เพราะช่วยให้ตื่นตัวและลดอาการเหนื่อยล้าได้
รัฐบาลอัซซาดมองเห็นโอกาสของยาเสพติดต้นทุนต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำหนักและเผชิญกับมาตรการลงโทษมากมาจากนานาประเทศ
จากนั้น รัฐบาลรวมทั้งกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในซีเรียก็เริ่มลงทุนสร้างโรงงาน โกดังและเครือข่ายขนผลิตยาเสพติดนี้อย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงปี 2018-2019 จนทำให้ซีเรียกลายมาเป็นผู้ผลิต Captagon รายใหญ่ของโลก โดยมีการขยายฐานการผลิตบางส่วนในยังเลบานอนด้วย
ข้อมูลจาก New Lines Captagon Trade Project ซึ่งเป็นโครงการขององค์กรคลังสมอง New Lines Institute ระบุว่า ยา Captagon ส่วนใหญ่ที่ยึดมาได้นั้นมีต้นกำเนิดมาจากซีเรีย
ขณะเดียวกัน หลักฐานที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลอัซซาดให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยาเสพติดนี้ก็มีออกมามากมาย ตามรายงานที่ตีพิมพ์ออกมาในเดือนพฤษภาคมซึ่งระบุด้วยว่า หน่วย Security Office of the 4th Armored Division ของกองทัพอาหรับซีเรีย (Syrian Arab Army) ซึ่งมีน้องชายของอัซซาดเป็นผู้ดูแล ทำหน้าที่ควบคุธุรกิจและสายการผลิตทั้งหมด
มีการลักลอบขน Captagon ไปที่ใดและทำได้อย่างไร
รายงานข่าวระบุว่า มีการลับลอบขนยา Captagon ข้ามพรมแดนด้วยรถบรรทุกและเรือขนส่งสินค้า โดยบางครั้งมีการซ่อนไว้ในอาหาร อุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อหลบหลีกการตรวจจับ
เส้นทางลักลอบหลักของยานี้ก็คือ ตามแนวชายแดนซีเรียที่ติดกับเลบานอน จอร์แดนและอิรัก ก่อนจะถูกกระจายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีตลาดหลัก ๆ ในประเทศร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นอกจากนั้น ยังพบว่า ยา Captagon หลุดมาไกลถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของยุโรปด้วย
อุตสาหกรรมยาเสพติดนี้ทำรายได้ให้รัฐบาลอัซซาดมากเท่าใด
มีการประเมินมูลค่าการค้ายา Captagon จากทั่วโลกไว้ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ และครอบครัวของอัซซาดน่าจะทำกำไรในแต่ละปีได้ถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจาก แคโรไลน์ โรส ผู้อำนวยการของโครงการ New Lines Institute Captagon Trade Project
โรสกล่าวว่า การค้นพบโรงงานผลิตต่าง ๆ ในซีเรียนั้นน่าตกใจมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พร้อมกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้ยืนยันถึง “ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Captagon และรัฐบาลชุดก่อน” ด้วย
ในเวลานี้ ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนโรงงานผลิต Captagon ในซีเรียได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกกลุ่มแข็งข้อต่อต้าน ฮายัต ทาห์เรีย อัล-ชาม หรือ HTS ที่เป็นผู้ปกครองซีเรียอยู่ในเวลานี้ ประเมินว่า น่าจะมีโรงงานแบบนี้หลายร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
Captagon กับการทูตด้านการปราบปรามยาเสพติด
ประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียพยายามหาทางควบคุมสกัดการหลั่งไหลเข้ามาของ Captagon มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำให้อัซซาดลงมือทำการใด ๆ ได้มาก
ซาอุดีอาระเบียประกาศบทลงโทษรุนแรงสำหรับการลักลอบขน Captagon และสั่งเสริมกำลังตามแนวชายแดน รวมทั้งทำงานประสานกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเพื่อสอดส่องดูแลเส้นทางลักลอบขนยา อย่างไรก็ตาม ความพยายามทั้งหมดนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายมาก ๆ จากเครือข่ายค้ายาอันแสนซับซ้อนในซีเรีย เลบานอนและจอร์แดน
ยา Captagon นั้นช่วยให้รัฐบาลอัซซาดมีแรงต่อรองมากพอจนทำให้ตนไม่ต้องถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศอาหรับหลายประเทศได้กลับมามีความสัมพันธ์เป็นทางการกับอัซซาดอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขหลักก็คือการหยุดยั้งการค้า Captagon หากความสัมพันธ์ของซีเรียกับนานาประเทศจะกลับมาเป็นปกติได้ และเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2023 ซีเรียได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกลีกอาหรับ (Arab League) หลังถูกพักสมาชิกภาพไปตั้งแต่เมื่อปี 2011 เนื่องจากการที่อัซซาดสั่งปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม
นอกจากนั้น ซีเรียยังสัญญาที่จะปราบปรามขบวนการลักลอบค้ายาด้วย จนทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงในภูมิภาคขึ้น โดยหลังมีการประชุมสุดยอดเรื่องนี้ไม่นาน จอร์แดนได้สั่งยกระดับการระวังภัยตามแนวชายแดนที่ติดกับซีเรียทันที
และเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีทางอากาศเข้าใส่บ้านของหัวหน้าองค์กรค้ายารายหนึ่งและใส่โรงงานที่เชื่อว่าใช้ผลิต Captagon หลังการประชุมสุดยอดดังกล่าว นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะอัซซาดเห็นชอบ
อนาคตของ Captagon หลังยุคอัซซาด
อาห์หมัด อัล-ชารา หัวหน้ากลุ่ม HTS ระบุในคำปราศรัยประกาศชัยชนะของการล้มลางรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า อัซซาดได้เปลี่ยนซีเรียให้เป็น “โรงงาน Captagon ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และว่า “วันนี้ ซีเรียถูกล้างให้สะอาดแล้ว ต้องขอบคุณพรของพระผู้เป็นเจ้าด้วย”
และขณะที่ อัซซาดและคนรอบ ๆ ตัวของเขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า กลุ่มต่อต้านในซีเรียเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนยาด้วย โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มต่อต้าน กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหลายเป็นผู้ผลิตและลักลอบขนยาเสพติดเพื่อนำเงินไปสนับสนุนปฏิบัติการของตน
แคโรไลน์ โรส ผู้อำนวยการของโครงการ New Lines Institute Captagon Trade Project ให้ความเห็นว่า จากนี้ น่าจะเกิดภาวะอุปทานยาเสพติดนี้ลดลงในระยะสั้น แต่บรรดาอาชญากรทั้งหลายก็ฉลาดหลักแหลมพอที่จะหาทางแก้ปัญหานี้ให้เหมือนเดิมได้ โดยเฉพาะเมื่อความต้องการ Captagon นั้นยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ และว่า องค์กรเหล่านี้อาจ “หาช่องทางทำการค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ เพื่อมาชดเชยรายได้ก็เป็นได้”
- ที่มา: เอพี