ฟุตบอลโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่านี้ จะมีหน้าตาอย่างไร?

FILE - A general view ahead of the World Cup, group B soccer match between the United States and Wales, at the Ahmad Bin Ali Stadium in in Doha, Qatar, Monday, Nov. 21, 2022. (AP Photo/Themba Hadebe, File)

ฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพกำลังจะสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์นี้ แต่คำมั่นสัญญาของกาตาร์ ที่จะทำให้การจัดฟุตบอลโลกเป็นกิจกรรมที่ “เป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon-neutral) หรือเป็นกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ เป็นคำสัญญาที่จะมีผลต่อเจ้าภาพประเทศต่อไปของทั้งฟุตบอลโลก และโอลิมปิก

ฝรั่งเศสได้ออกมาประกาศแล้วว่า ‘ปารีสโอลิมปิก’ ในปี 2024 จะเป็นโอลิมปิกที่ “เป็นบวกต่อสภาพภูมิอากาศ” ในขณะที่ เม็กซิโก สหรัฐฯ และแคนาดา เจ้าภาพร่วมการจัดฟุตบอลโลกในปี 2026 สัญญาว่าฟุตบอลโลก 2026 จะเป็น “ฟุตบอลโลกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำที่สุดในยุคสมัยใหม่” ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

ผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศและมลพิษที่เกิดจากการจัดมหกรรมกีฬาของแต่ละประเทศเจ้าภาพ แตกต่างกันด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดของประเทศ จำนวนสนามกีฬาที่จะสร้างขึ้น ระบบขนส่งมวลชนระหว่างแต่ละสนาม และเครือข่ายไฟฟ้าของประเทศนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ กล่าวว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกและโอลิมปิก ได้กลายเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก ทำให้เจ้าภาพต้องเตรียมการมากกว่าที่กาตาร์ทำเอาไว้ และควรจะตอบคำถามให้ได้ว่า ใครหรือประเทศใดควรจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับนี้?

Al Thumama stadium is one of the stadiums which will host the World Cup. Qatar has built eight stadiums for this World Cup and created an entire new city of Lusail where the final will be held. (AP Photo/Darko Bandic)

ฟุตบอลโลกครั้งนี้ กาตาร์ลงทุนสร้างสนามกีฬาใหม่ 7 แห่ง และปรับปรุงสนามเก่าขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งเพื่อจัดการแข่งขัน และนอกจากจะสร้างสนามขึ้นมาใหม่แล้ว กาตาร์ยังมีแผนท่ีจะทุบสนามหนึ่งทิ้งหลังการแข่งขันอีกด้วย กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่จะอยู่ในอากาศนานกว่า 100 ปี และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในทางตรงกันข้าม สนามแข่งฟุตบอลโลกในเม็กซิโก สหรัฐฯ และแคนาดาในอีกสี่ปีข้างหน้านั้นเป็นสนามที่มีอยู่แล้ว ส่วนผู้จัดโอลิมปิกในกรุงปารีสกล่าวว่า 95% ของสนามแข่ง เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่แล้วหรือเป็นสนามชั่วคราว

การหาเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่มีสนามแข่งอยู่แล้ว หาง่ายกว่าการหาเจ้าภาพโอลิมปิกที่มีสนามอยู่แล้วสำหรับกีฬาทุกประเภท ตัวอย่างเช่น การแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนต้องใช้สนามแข่งมากกว่า 40 สนาม และมักจะเป็นสนามที่ปกติไม่ค่อยมีคนได้ใช้งาน

แนวคิดอีกอย่างหนึ่ง คือการแต่งตั้งเจ้าภาพถาวรในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหรือกีฬาอื่น ๆ เพื่อไม่ต้องให้มีการสร้างสนามการแข่งขันหรือโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่ ที่อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรหลังจากการแข่งขันจบลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตประเทศเจ้าภาพอย่าง แอฟริกาใต้ บราซิล และรัสเซีย

อาร์โนลด์ โบรเฮอะ ผู้บริหารบริษัทให้คำปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่าการลดระยะทางที่แฟนกีฬาจะต้องเดินทางไปประเทศเจ้าภาพและไปดูการแข่งขันต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะการเดินทางเป็นกิจกรรมสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

Qatar 2022 FIFA World Cup - Soccer fans take the penultimate plane to Doha to attend Argentina's World Cup Final match

กาตาร์ยืนยันว่าการจัดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็ก ทำให้แฟนบอลไม่ต้องเดินทางไกลในการไปชมการแข่งขันฟุตบอลตามสนามต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแฟนบอลหลายพันคนที่ไปพักที่ดูไบ เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากที่พักในกาตาร์นั้นไม่เพียงพอ ทำให้แฟนบอลเหล่านี้ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ใช้เวลาบินประมาณ 45 นาทีเพื่อมาเชียร์ฟุตบอลในกาตาร์

ส่วนในฟุตบอลโลก 2026 แฟนบอลจะต้องเดินทางไกลกว่านั้นในการไปเชียร์ฟุตบอลตามสนามแข่งต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่ใน 3 ประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ เช่น เมืองฮิวส์ตัน นครลอสแอนเจลิส โตรอนโต และกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งทางผู้จัดได้ออกมากล่าวว่าจะพยายามจัดรอบน็อคเอาท์ (knockout) ที่สนามแข่งที่อยู่ใกล้กันเพื่อลดการเดินทางของผู้เข้าชม

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เจ้าภาพบางประเทศมักจะสัญญาว่าจะจัดการแข่งขันที่ “เป็นกลางทางคาร์บอน” โดยจะชดเชยหรือหักล้างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาด้วยวิธีอื่น เช่น จ่ายเงินเพื่อขุดฝังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงใต้ดิน ปลูกต้นไม้ หรือดักจับเพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกหลุดรอดออกไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบหรือติดตามคำสัญญาดังกล่าวหรือไม่หลังจากที่มหกรรมกีฬาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายคนเชื่อว่าไม่มีการชดเชย หรือทำการใด ๆ ที่จะไปหักล้างก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาได้อย่างเพียงพอ

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า องค์กรหรือหน่วยงานจัดกีฬาระดับโลกแบบควรจะซื่อสัตย์กว่านี้ และไม่ควรอ้างว่ามหกรรมกีฬาที่พวกเขาจัดขึ้นมานั้นเป็นกิจกรรม “เชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศ” หรือ “เป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเสนอว่า การจัดกีฬาเหล่านี้มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศน้อยมาก หรือแทบไม่มีผลกระทบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นคำกล่าวอ้างที่เป็นไปไม่ได้เลย