Your browser doesn’t support HTML5
นายราฟาเอลโล พันทุชชี่ (Rafaello Pantucci) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศ จากสถาบัน รอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส (Royal United Services Institute-RUSI) องค์กรวิชาการด้านนโยบายความมั่นคงและการทหาร ของสหราชอาณาจักร สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ หรือกลุ่ม G7 ที่จัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ ที่เมืองบิอาร์ริซส์ ของฝรั่งเศส ว่าความไม่เป็นเอกภาพและไม่ลงรอยกันของกลุ่มประเทศสมาชิก 7 ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา ทำให้ศักยภาพและความเชื่อมั่นในบทบาทการเป็นผู้นำโลก ของสมาชิกถดถอยลงไป
G7 ไร้เอกภาพ เท่ากับ ไร้ประสิทธิภาพ
นักวิชาการด้านความมั่นคงจากสถาน Royal United Services เขียนบทความตีพิมพ์ใน ‘เดอะไทมส์’ หนังสือพิมพ์รายวันฉบับเก่าแก่ของอังกฤษ แสดงความกังวลว่า กลุ่มประเทศตะวันตกกำลังกลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในเหตุการณ์สำคัญหลายๆด้านที่เกิดขึ้นทั่วโลกมากขึ้นไปในทุกขณะ โดยไม่มีความสามารถหรือแนวทางชัดเจนที่จะตอบสนองหรือจัดการสร้างความเปลี่ยนใดๆได้ เหมือนที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์จาก RUSI บอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การตอบสนองของกลุ่มประเทศตะวันตก ที่มีต่อเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกง และ การประท้วงที่กรุงมอสโก ว่า ซึ่งทั้งจีน และรัสเซีย สามารถวางบทบาทของตัวเองได้ตามที่ต้องการได้อย่างเต็มที่
นักวิเคราะห์จากสถาบันด้านนโยบายความมั่นคงแห่งเกาะอังกฤษ ระบุด้วยว่า การประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำ G7 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนการขาดความเป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศสมาชิกได้ชัดเจนในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก หรือ Climate Change จุดยืนความสัมพันธ์กับรัสเซีย การเพิ่มขึ้นของกลุ่มแนวคิดชาตินิยม รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ที่กลับส่งผลร้ายต่อยุโรปมากกว่าอเมริกา
การประชุม G7 ครั้งนี้ นายแอมานุแอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส ในฐานะเจ้าภาพการจัดการประชุมพยายามลดภาพลักษณ์ในความไร้เอกภาพของกลุ่มสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ ด้วยการงด การออกแถลงการณ์สรุปร่วมกันของประเทศสมาชิกหลังการประชุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มจัดการประชุมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2518 เพื่อหลักหลีกเลี่ยงเหตุความวุ่นวายเหมือนปีที่ผ่านมาที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกจากที่ประชุมไปก่อนและไม่ยอมรับแถลงการณ์สุดท้าย
ถึงทางตัน-จนปัญญา หาเอกภาพ
นายวิลเลี่ยม เฮก (William Hague) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ แสดงความกังวลว่า มีโอกาสที่ความแตกแยกของบรรดากลุ่มประเทศสมาชิก G7 อาจจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง โดยย้ำว่า บรรดาผู้นำทั้งหลายของกลุ่ม G7 กำลัง 'หมดปัญญา' ที่แสวงหาจุดเชื่อมโยงที่จะสร้างความร่วมมือผนึกกำลังแสดงจุดยืนในเพื่อแก้ปัญหาใด ๆ ได้ในขณะนี้
แม้ก่อนหน้าการประชุม ผู้นำฝรั่งเศส จะพยายามจัดทำแผนกระตุ้นความท้าทายให้ผู้นำประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้ให้หันมาทบทวนการวางบทบาทในฐานะกลุ่มผู้นำโลก ด้วยการเน้นย้ำ กอบกู้แนวคิดประชาธิปไตยจากแนวคิดชาตินิยม ลดการผลักดันแนวคิดแบบทุนนิยม และมุ่งสร้างความเท่าเทียมและสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งการชูประเด็นเพื่อหาทางออกร่วมกันแบบ ‘พหุภาคี’
แต่ทั้งหมดกลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีจากประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่ไม่เชื่อในแนวทางการมีส่วนร่วมที่หลากหลายแบบพหุภาคี และ มีข้อกังขาต่อกลุ่มประเทศยุโรป ที่มีต่อมาตรกรการกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังกดดันยุโรปให้สนับสนุนการเผชิญหน้าทางการค้ากับจีนของสหรัฐฯ โดยชูแนวทางว่าแม้จะเจ็บปวดในระยะสั้นแต่ในระยะยาวจีนจะเป็นผู้เสียเปรียบในที่สุด
รัสเซีย หยัน G7 ไร้ตัวตน
ขณะที่รัสเซียแม้จะถูกให้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศชั้นนำ G8 จากประเด็นปัญหาการรุกรานยูเครน ในปี ค.ศ.2014 แต่ก็หันไปเพิ่มความร่วมมือกับจีน ที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและใช้แนวทางการค้านำการทูตไปทั่วโลกอย่างได้ผล
นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวปฏิเสธที่จะกลับไปเข้าเป็นสมาชิก G8 โดยระบุว่ากลุ่มประเทศความร่วมมือดังกล่าวนั้นเป็นองค์กรที่ 'ไม่มีตัวตน' อีกต่อไป โดยผู้นำรัสเซียย้ำว่าจะหันไปพุ่งเป้าในเวทีนานาชาติที่ใหญ่กว่าคือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือกลุ่ม G20 แทน
โจทย์ใหม่ของ 'ผู้เสียเปรียบ' แห่งโลกตะวันตก
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ย้ำว่า กลุ่มประเทศ G7 ควรหันกลับมามองเรื่องเสรีภาพกันใหม่ เพราะการสิ้นสุดของสงครามเย็นนั้นได้ทำให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานแล้ว ขณะที่วิกฤติการเงินโลกก็ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยาวนาน และการย้ายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกไปยังตะวันออกมากขึ้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อที่ชนชั้นแรงงานในตะวันตก ที่ต้องถูกผลักให้กลายเป็นผู้เสียเปรียบในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ จนหลายคนต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แนวทางแบบพหุภาคี ที่หลากประเทศตะวันตกยึดมั่นร่วมกันจะยังเป็นคำตอบในความสัมพันธ์ของโลกในปัจจุบันหรือไม่