Your browser doesn’t support HTML5
อีกไม่นาน วงการแพทย์จะสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจวัดทางการแพทย์แบบติดลงบนแขนผู้ป่วยคล้ายกับพลาสเตอร์ยาปิดแผลในการตรวจวัดและบำบัดคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคบางชนิดได้
อุปกรณ์เฝ้าระวังทางสุขภาพแบบติดบนตัวผู้ป่วยนี้พัฒนาโดยทีมวิศวกรชาวเกาหลี มีหน้าตาเหมือนกับพลาสเตอร์ยาปิดแผลแต่มีแผงตาข่ายที่ทำจากลวดโลหะอนุภาคนาโนกับวัสดุอื่นๆ อยู่ด้านใต้ของพลาสเตอร์ยาในส่วนที่อยู่ใกล้กับผิวหนังมากที่สุด
อุปกรณ์ตรวจวัดทางสุขภาพนี้ใช้ติดที่ข้อมือ ทำหน้าที่ตรวจวัดเเละเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายได้นานหนึ่งสัปดาห์ ภายในอุปกรณ์นี้มีการบรรจุยารักษาโรคเอาไว้ซึ่งจะปล่อยยาเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยโดยอัตโนมัติหากมีความจำเป็น
ศาสตราจารย์ Dae-Hyeong Kim ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัย Seoul National University กล่าวว่าทีมนักวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาอุปกรณ์นี้เพื่อใช้บำบัดผู้ป่วยโรค Parkinson’s
เขากล่าวว่าหลังจากตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติของคนไข้ ทีมงานสามารถวิเคราะห์อาการของคนไข้ได้จากข้อมูลที่อุปกรณ์ตรวจวัดบันทึกไว้ นอกจากนี้อุปกรณ์ตรวจวัดทางสุขภาพดังกล่าวยังสามารถปล่อยยารักษาโรคที่บรรจุเอาไว้ภายในให้เเก่ผู้สวมอุปกรณ์ได้ด้วยโดยควบคุมปริมาณตามแต่ความจำเป็นในการรักษา
ศาสตราจารย์คิมกล่าวว่าอุปกรณ์ตรวจวัดทางการแพทย์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ ไม่สะดวกในการพกพา แต่อุปกรณ์ที่ทีมงานของเขาพัฒนาขึ้นนี้จะแบบบางมากและดูกลมกลืนกับผิวหนัง
เขากล่าวว่าในอนาคต จะมีการออกแบบให้อุปกรณ์ตรวจวัดนี้สามารถบันทึกการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายรวมทั้งหัวใจกับสมองด้วย นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังวางแผนที่จะออกแบบให้อุปกรณ์นี้สามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเเละทำการปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ
อุปกรณ์ตรวจวัดชิ้นทดลองนี้ได้รับการออกแบบให้ตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อและประสบความสำเร็จในการทดสอบกับผิวหนังของสุกร ศาสตราจารย์คิมกล่าวว่าเขาต้องการเพิ่มการใช้งานอย่างอื่นเข้าไปในอุปกรณ์ตรวจวัดนี้
ศาสตราจารย์คิมกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการใช้งานอื่นๆ ที่ว่านี้รวมทั้งการควบคุมสั่งการด้วยระบบการสื่อสารแบบไร้สายเพื่อให้อุปกรณ์สามารถสื่อสารกับสมาร์ทโฟนได้และส่งข้อมูลจากตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลได้ด้วย
แต่ก่อนที่อุปกรณ์ตรวจวัดที่แบบบางและยืดหยุ่นได้นี้จะพร้อมนำออกมาให้ผู้ป่วยใช้งาน ศาสตราจารย์คิมชี้ว่าทีมงานยังต้องเอาชนะความท้าทายทางวิศวกรรมการแพทย์อีกหลายอย่างรวมทั้งวิธีการควบคุมปริมาณยาที่ปล่อยเข้าสู่ร่างกายคนไข้