ถ้าจะถามว่าการกินอาหารแบบทิ้งๆขว้างๆ กับการต้องสูญเสียการใช้พลังงานเกี่ยวกันอย่างไร ต้องไปฟังผลงานวิจัยของอแมนด้า คูเอลลาร์ (Amanda Cuellar) และ ไมเคิล เวบเบอร์ (Michael Webber) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน ที่รายงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี (Environmental Science&Technology)เมื่อเดือนที่ผ่านมา
คุณไมเคิล เวบเบอร์ นักวิจัยพบว่ากระบวนการก่อนจะเตรียมอาหารแต่ละมื้อให้เรารับประทานนั้นล้วนผ่านการสิ้นเปลืองพลังงานมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว รายงานการวิจัยในเรื่องนี้ประมาณตัวเลขไว้ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 16 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในอเมริกา ถูกใช้ไปสำหรับการผลิตอาหารเพียงอย่างเดียว
การผลิตอาหารในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การทำกับข้าวนะครับ แต่หมายถึงการสิ้นเปลืองการใช้พลังงานต่างๆตั้งแต่ขั้นตอนการทำการเกษตรเพื่อปลูกพืชผล การขนส่ง การแปรรูป และการขายอาหาร นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสิ้นเปลืองพลังงานไปกับการเก็บรักษาอาหาร และการเตรียมอาหารสำหรับรับประทาน
นักวิจัยใช้หน่วยวัดการสิ้นเปลือง ด้วยการวัดปริมาณความร้อนมาตราแบบอังกฤษ ที่มีชื่อเต็มว่า British Thermal units หรือที่รู้จักและเรียกย่อๆว่าBTU โดย 1 BTU จะเทียบเท่ากับความต้องการใช้ปริมาณพลังงานความร้อนของสิ่งที่วัดได้หนักราวครึ่งกิโลกรัมที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮซ์
งานวิจัยพบว่าอาหารที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์หรือเหลือทิ้งมากที่สุดในแต่ละวัน ได้แก่ นม เนย ไข่ ไขมัน เมล็ดข้าว และน้ำมันทำอาหาร ส่วนอาหารที่พบว่าเหลือทิ้งเป็นเศษอาหารน้อยที่สุด ได้แก่ ถั่ว เนื้อปลา เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว และเมล็ดพืช
รายงานจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ระบุว่าข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลสหรัฐฯเมื่อปีคริสตศักราช 1995 หรือกว่า 15 ปีก่อน นั้นฯประมาณการณ์ว่ามีอาหารที่ชาวอเมริกันเหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์มากถึงร้อยละ 27
และเมื่อปีที่ผ่านมาวารสารวิชาการอีกฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลกระทบจากการสิ้นเปลืองอาหารกับสิ่งแวดล้อม ยังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 1974 ชาวอเมริกันมีอัตราการการทานอาหารแล้วทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ต่อคนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50