ภาวะโลกร้อนทำเต่าตัวผู้ลดจำนวน-กระทบการอนุรักษ์ในมาเลเซีย

เต่าทะเลกำลังคลานอยู่บนลานหินที่ชายฝั่ง เพื่อกลับลงทะเลจีนใต้หลังวางไข่ เกาะเรดัง มาเลเซีย วันที่ 22 พฤษภาคม 2024 (ที่มา: Reuters)

นักวิจัยออกมาแสดงความกังวลว่า สภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชากรเต่าทะเลตัวผู้หดตัวลง ตามการรายงานของรอยเตอร์

ผู้สังเกตการณ์จากเขตรักษาพันธุ์เต่า ชาการ์ ฮูตัง ที่เกาะเรดังของมาเลเซีย เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศทำให้ลูกเต่าตัวผู้มีจำนวนน้อยลง เพราะอุณหภูมิของไข่เต่าเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าตัวอ่อนข้างในจะเป็นเพศอะไร และสถานการณ์ในปีนี้ย่ำแย่ลงเนื่องจากสภาวะอากาศร้อนแล้งที่ยาวนาน อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ

นิโคลัส โทเลน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาเลเซีย ตรังกานู กล่าวว่า “นักอนุรักษ์เต่าทะเลกังวลว่าภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการควบคุม ในอนาคต 15 20 30 ปีต่อไป จะเป็นอันตราย…เพราะมันจะทำให้ประชากรตัวอ่อนของเต่าทะเลเป็นตัวเมีย”

ที่ผ่านมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพยายามลดอุณหภูมิการฟักไข่ ด้วยการย้ายไข่ไปอยู่ในจุดที่ร่ม หรือนำไปแช่ในน้ำ แต่ยังคงต้องมีการติดตามประสิทธิภาพของวิธีการเหล่านี้ต่อไป

ทั้งนี้ วิธีข้างต้นมักถูกเลือกใช้มากกว่าการนำไข่ไปเข้าเตาอบเทียม ที่อาจไปรบกวนกระบวนการเรียนรู้สนามแม่เหล็กโลกของตัวอ่อน ที่ในระยะยาวจะส่งผลถึงทักษะการตอบสนองกับทิศทางและการวางไข่

  • ที่มา: รอยเตอร์